:: เนื้อหา ข้อมูล-ข่าวสาร-บทความ::

ข่าวสาร ความรู้/การเลี้ยงสุกร >> หมูหลุม...ทางเลือก ทางรอด รายย่อย
13 ก.พ. 2559 22:15:44


หมูหลุม...ทางเลือก ทางรอด รายย่อย

  • pig.jpg
  • 2.หมูหลุม.jpg
  • 32100565_3_20131013-022851.jpg
  • DSCN0854.jpg

หมูหลุม...ทางเลือก ทางรอด รายย่อย

        ต้องยอมรับว่าวันนี้ รายย่อยเลี้ยงหมูอยู่ได้ยากขึ้น จากหลากหลายปัจจัย มีต้นทุนการผลิตที่สูง ซื้อวัตถุดิบและปัจจัยการผลิตในราคาที่แพง เข้าถึงวัตถุดิบคุณภาพได้ยาก ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตต่ำไม่คุ้มกับการลงทุน

        กฎหมายท้องถิ่นโดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม เป็นอีกหนึ่งข้อจำกัด ทั้งเรื่องกลิ่น และของเสียจากฟาร์มสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนรอบข้าง ซึ่งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่มีอำนาจที่จะไม่อนุญาตออกใบประกอบกิจการทำฟาร์ม ให้ฟาร์มหมูหยุดดำเนินการภายใน 90 วัน หากสร้างปัญหา และถ้าฟาร์มยังไม่ปรับปรุงก็จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายในที่สุด ซึ่งที่ผ่านมาก็มีข่าวการปิดฟาร์มหมูออกมาเป็นระยะจากปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งในการปรับตัวเรื่องนี้แน่นอนว่าต้องลงทุนเพิ่มเติมไม่น้อย

        นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าฟาร์มรายย่อยไม่สามารถป้องกันโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องก็ไม่สามารถอุ้มหรือช่วยเหลือรายย่อยได้อย่างทั่วถึง เพราะมีเจ้าหน้าที่ และงบประมาณจำกัด และเมื่อเกิดโรคระบาดขึ้นก็ควบคุมได้ค่อนข้างยาก และลุกลามเป็นวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว และสร้างความเสียหาย เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้รายย่อยอยู่ในระบบได้ยาก และต้องออกจากระบบไป

        หนึ่งทางออกของรายย่อยวันนี้ ถ้ายังอยากจะทำฟาร์มทำเอง การปรับเปลี่ยนรูปแบบการเลี้ยง เพื่อทำให้ผลผลิตมีความแตกต่าง โดยเปลี่ยนรูปแบบจากการเลี้ยงจากหมูฟาร์มทั่วไปมาเป็นหมูหลุม เป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งวันนี้ตลาดเนื้อหมูหลุมเริ่มได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ เพราะผู้บริโภคเริ่มใส่ใจกับสุขภาพมากขึ้น ต้องการอาหารที่ผลิตจากกระบวนการธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมีที่มีผลตกค้างในเนื้อหมู

        การเลี้ยงหมูหลุม รายย่อยสามารถทำได้ เพราะมีการจัดการที่ไม่ยุ่งยาก ช่วยลดต้นทุนค่าอาหารได้ 50-70% เนื่องจากเน้นการใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น มาใช้เลี้ยงหมูเป็นหลัก ลดภาระการเลี้ยงหมูของเกษตรกร เนื่องจากไม่ต้องทำความสะอาดพื้นคอก ลดของเสียที่เกิดจากการเลี้ยงหมู แต่ใช้เวลาในการเลี้ยงนานขึ้น

        วันนี้ภาครัฐเริ่มมีการส่งเสริมรายย่อยให้เลี้ยงหมูหลุม นอกจากนี้การเลี้ยงหมูหลุมยังสอดคล้องกับนโยบายภาครัฐที่เน้นเรื่องการทำปศุสัตว์ในยุคเศรษฐกิจสีเขียวที่เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม การลดของเสียจากการเลี้ยงสัตว์ และการเลี้ยงที่ปลอดสารปลอมปน และตกค้าง ที่สำคัญหมูหลุมดำเนินตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่จะทำให้รายย่อยอยู่รอดต่อไปได้ในภาวะการแข่งขันที่รุนแรง

        การส่งเสริมสนับสนุนของภาครัฐควรทำครบวงจร และการเลี้ยงหมูหลุม มีสิ่งที่ต้องเรียนรู้อีกมากทุกขั้นตอน ดังนั้น ภาครัฐควรเสริมสร้างศักยภาพของนักวิชาการและนักส่งเสริม สร้างความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการ ปฏิบัติจริง แทนการอบรมแบบเดิมซึ่งเกษตรกรไม่นำไปปฏิบัติ ทั้งนี้เกษตรกรจำเป็นต้องหาข้อมูลก่อนลงมือปฏิบัติ ซึ่งวันนี้มีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับหมูหลุมที่ประสบความสำเร็จในการดำเนินงานเกิดขึ้นจำนวนมากให้เข้าไปศึกษาหาข้อมูล

        “หมูหลุม”  เป็นภาษาชาวบ้านที่เลี้ยงหมูแบบขุดหลุมลึก โดยใช้วัสดุรองพื้น ดั้งเดิมมาจาก ประเทศเกาหลีและญี่ปุ่น มีแนวคิดตามหลักการของ “เกษตรกรรมธรรมชาติ” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของระบบเกษตรกรรมยั่งยืน เป็น การเกษตรที่ไม่เพียงแต่คำนึงถึงผลผลิตจากการ

        เกษตรเท่านั้น แต่มีปรัชญาแนวคิดอยู่เบื้องหลัง เป็นการพัฒนารูปแบบการเกษตรที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ความเป็นองค์รวมของระบบนิเวศน์เกษตรในฟาร์ม วงจรชีวภาพห่วงโซ่อาหาร ดิน พืช สัตว์ จุลินทรีย์ พลังธรรมชาติหมุนเวียนจากพลังงานแสงแดด น้ำและดิน นำมาปลูกพืชเลี้ยงสัตว์กินพืช นำปุ๋ยมูลสัตว์มาเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับดิน

        รวมถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่น และการพึ่งพาตนเองในด้านการผลิตและการบริโภคขนาดเล็กและขนาดกลาง ที่เหมาะสมกับทรัพยากร ภูมิปัญญาในท้องถิ่น และวัฒนธรรมที่มีในชุมชนโดยมีเป้าหมายเชิงนโยบายอยู่ที่การพัฒนาชนบท การฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน การอยู่ดีกินดีของคนชนบท และสุขภาพของประชากร นำไปสู่การแก้ไขปัญหาความยากจนในที่สุด

        การเลี้ยงหมูหลุม เป็นการผลิตเนื้อหมูสำหรับคนบริโภคในท้องถิ่น เน้นเทคนิคด้วยการจัดการคอกไม่ให้มีน้ำเสียจากฟาร์ม มูลสัตว์สามารถกำจัดในคอก โดยการทำงานของจุลินทรีย์ท้องถิ่น ของเสียเหล่านั้นถูกนำกลับเป็นปัจจัยการผลิตในการปลูกพืช ทั้งที่เป็นพืชที่ปลูกเป็นรายได้และพืชที่เป็นอาหารสัตว์ เช่น ข้าว ผัก ผลไม้ เป็นการหมุนเวียนใช้พลังธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีที่พึ่งพาตนเองได้ในชุมชน

        จุลินทรีย์ เป็นเครื่องมือสำคัญในการเลี้ยงหมูหลุมและเกษตรอินทรีย์ จุลินทรีย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่มีขนาดเล็กที่มองด้วยตาเปล่าไม่เห็น ปัจจุบันความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีชีวภาพและ นาโนเทคโนโลยีทำให้ทราบบทบาทของจุลินทรีย์และการนำมาใช้ประโยชน์ในการเกษตร สมัยใหม่ เพื่อผลิตอาหารสำหรับมนุษย์ที่ไม่ใช้สารเคมีสังเคราะห์ซึ่งมีผลเสียต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จุลินทรีย์มี 3 ประเภท คือ

        1)  จุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์

        2)  จุลินทรีย์ก่อโรค

        3)  จุลินทรีย์ที่เป็นกลาง ซึ่งมีหลากหลายชนิดมากและกระบวนการทำงานของจุลินทรีย์มีสิ่งที่มนุษย์ยังไม่สามารถเรียนรู้ได้หมด

        การเลี้ยงหมูหลุม ใช้ความรู้ในการจัดการคอกและการให้อาหารแก่หมูด้วยบทบาทของจุลินทรีย์ 2 ประการ คือ

        1)  บทบาทการย่อยสลาย  สารประกอบอินทรีย์ ที่มีโครงสร้างซับซ้อนที่พืชและสัตว์ไม่สามารถย่อยสลายใช้ประโยชน์ได้ เช่น ซากพืช ซากสัตว์ ของเสีย สิ่งขับถ่าย แต่จะมีจุลินทรีย์บางชนิดที่มีในธรรมชาติสามารถย่อยให้เป็นองค์ประกอบที่ไม่ซับซ้อนทำให้พืชและสัตว์ใช้ประโยชน์ได้ และแร่ธาตุบางชนิดที่เป็นปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมเช่น อาร์เซนิค แคดเมี่ยม จะถูกย่อยสลายไม่เป็นพิษสะสมในพืช เป็นต้น

        2)  บทบาทการสังเคราะห์สารประกอบอินทรีย์  เช่น สารคล้ายปฎิชีวนะ เอนไซม์ กรดแลคติค ซึ่งเป็นผลผลิตจากการหมักชีวภาพ เช่นการใช้ Probiotics ผสม น้ำหรือผสมอาหารสัตว์ ทดแทนการใช้สารปฏิชีวนะเร่งการเจริญเติบโตในการเลี้ยงสัตว์ ซึ่งต่างประเทศกำลังนิยมใช้เป็นปัจจัยการผลิตที่เป็นธรรมชาติ ประเทศไทยได้มีการนำเข้ามาใช้มากกว่า 60 ราย แต่ Probiotics ที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในประเทศไทย คือน้ำหมักชีวภาพที่มีสูตรหลากหลาย และนักวิชาการส่วนมากยังไม่ยอมรับนั่นเอง

        การใช้สารสกัดจากสมุนไพร และสารสกัดจากพืชโดยกระบวนการหมักบ่มด้วยจุลินทรีย์ที่มีลักษณะจำเพาะ ด้วยระยะเวลาและวิธีการหมักบ่มที่เหมาะสม จะได้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นประโยชน์กับสัตว์ซึ่งเป็นกลไกซับซ้อนส่งเสริมซึ่งกัน และกัน ดังนี้ คือ

        -  เอ็นไซม์ ช่วยย่อยอาหารโปรตีน คาร์โบไฮเดรท ไขมัน เยื่อใยต่างๆ กระตุ้นกระบวนการใช้ประโยชน์อาหาร ทำให้สัตว์ใช้ประโยชน์อาหารที่กินเข้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดกลิ่นในมูลสัตว์

        -  สารคล้ายปฏิชีวนะ ที่ผลิตได้จากจุลินทรีย์ เช่น Pediocins จาก Pediococcus sp.,และ lactic acid และ Hydrogen peroxide จากกลุ่มผลิตกรดแลคติคซึ่งสามารถทำลายเชื้อก่อโรคได้หลายชนิด ได้แก่ Vibrio, E.coli, Salmonella, Camphylobactor, Pseudomonas Staphylococcus, และ Clostridium

        -  สารทำลายสารพิษของเชื้อก่อโรค ซึ่งผลิตได้จากแบคทีเรียและยีสต์บางชนิด

        -  ไวตามิน บีรวม Thiamine,riboflavin,pyridoxine,niacin,biltin,choline,B12, pantothenic,

        -  แร่ธาตุบางชนิด

        ดังนั้นการใช้สารสกัดชีวภาพ และสารสกัดสมุมไพรจึงมีผลทำให้สุขภาพสัตว์แข็งแรง เจริญเติบโตเร็ว ลดการเกิดโรค ได้ผลผลิต เนื้อ นมไข่ที่ปลอดภัยจากเชื้อก่อโรคในคน (E.coli, salmonlla) ซึ่งเป็นเชื้อที่ถูกกำหนดในการตรวจคุณภาพเนื้อตามกระบวนการ Food safety

        ผลิตภัณฑ์เหล่านี้ทำให้เกิดกระบวนการทำงาน (mode of action) ที่มีประโยชน์ต่อสัตว์ ดังนี้

        1.  Prebiotic effect สารสกัด จากสมุนไพร และจากพืช มีผลส่งเสริมการทำงานของจุลินทรีย์ที่เป็นประโยชน์ในทางเดินอาหาร ทำลายจุลินทรีย์ก่อโรค และช่วยย่อยอาหารและดูดซึมอาหารได้ดี เช่น เอนไซน์ ไวตามินต่างๆ

        2.  Probiotic effect จุลินทรีย์ที่ทนต่อความเป็นกรดสูง ได้แก่กลุ่มที่ผลิตกรดแลคติก ทำให้เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วในทางเดินอาหาร (ลำไส้) ลดจุลินทรีย์ก่อโรคในลำไส้

        3.  Immnological effect ในระหว่างกระบวนหมักจุลินทรีย์กลุ่มสร้างกรดแลคติค จะผลิตโปรตีนสายสั้น ที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันในร่างกาย หรือจากผนังเซลล์ของยีสต์จะผลิต Betaglucan ที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มแบบไม่จำเพาะเช่นกัน

        4.  ปรับสมดุลของความเป็นกรดด่างในทางเดินอาหาร ส่งเสริมสุขภาพของทางเดินอาหาร ทำให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        อย่างไรก็ตามการศึกษาผลของการใช้สารธรรมชาติทั้ง สมุนไพรสารสกัดจากพืช และสารสกัดชีวภาพในการเลี้ยงสัตว์ที่มีผลต่อการเร่งการเจริญเติบโต การกระตุ้นภูมิคุ้มกัน หรือการฆ่าและทำลายเชื้อยังให้ผลที่ไม่คงที่ ซึ่งมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายประการ ขึ้นอยู่กับสภาพการจัดการฟาร์ม ความสะอาด คอกโรงเรือนการถ่ายเทอากาศ การสัมผัสเชื้อโรค ฉะนั้นจึงทำให้ผลการศึกษาที่ได้มีความผันแปรมาก จำเป็นต้องใช้กระบวนการวิจัยสหสาขาวิชาการที่บูรณาการอย่างเป็นระบบ เพื่อต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น นำมาเป็นนวัตกรรมในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติทดแทนการใช้สารเคมี สังเคราะห์ในการเลี้ยงสัตว์

ที่มา : หนังสือโลกสุกร ฉบับที่ 151 เดือนกรกฎาคม 2558




Close-คลิ๊กที่นี่เพื่อปิดหน้านี้ครับ