:: เนื้อหา ข้อมูล-ข่าวสาร-บทความ::

ข่าวประชาสัมพันธ์ >> “เรื่องหมูๆ ที่ไม่หมู” ในอุ้งมือของรัฐและนายทุน
24 ส.ค. 2559 08:49:41

“เรื่องหมูๆ ที่ไม่หมู” ในอุ้งมือของรัฐและนายทุน

0

เขียนโดย ดลวรรฒ สุนสุข

เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมผู้ค้าเนื้อหมูที่ไม่มีใบอนุญาตในจังหวัดเลย

เจ้าหน้าที่เข้าจับกุมผู้ค้าเนื้อหมูที่ไม่มีใบอนุญาตในจังหวัดเลย

“จับกันจริงจังช่วงนี้ ในตัวเมือง โรงชำแหละใหญ่ๆ โดนกันไปหลายราย หลายปีก่อน แถวนี้เคยเห็น 2-3 เขียงโดนจับบ้าง แต่รอบนี้มีทหารมีตำรวจมาจับด้วย เหมือนเขาทำผิดอะไรร้ายแรงสักอย่างหนึ่ง”

เจ้าของเขียงหมูและโรงฆ่าสัตว์รายหนึ่งใน จ.เลย ซึ่งขอให้ใช้นามสมมุติว่า “นางสุธิดา” เล่าถึงสถานการณ์ไล่จับโรงฆ่าสัตว์และเขียงหมูที่ไม่มีใบอนุญาตในจังหวัด หลังจากรัฐบาลได้เดินหน้ากวาดล้างโรงฆ่าสัตว์และเขียงหมู “เถื่อน” ทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา และในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (ภาคอีสาน) ก็มีผู้ถูกดำเนินคดีเป็นจำนวนมาก

เธอเล่าให้ฟังว่า สมัยก่อนก็มีเจ้าหน้าที่เข้ามาจับอยู่บ้าง แต่จะมากันคนสองคน แล้วขอเงินใต้โต๊ะหรือขนซากหมูกลับไป บางทีก็ไม่รู้ว่าเป็นเจ้าหน้าที่จริงหรือเปล่า ส่วนตัวก็ไม่มีใบอนุญาตและเคยโดนจับเมื่อปีก่อน แต่ก็กลับมาทำเหมือนเดิม เพราะไม่รู้จะให้ไปทำมาหากินอะไร

นายวันชัย ถวิลไพร ปศุสัตว์ จ.หนองบัวลำภู กล่าวถึงสาเหตุที่รัฐบาลประกาศกวาดล้างเขียงหมูและโรงฆ่าสัตว์เถื่อนว่า เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากซากสัตว์ที่มีเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อที่จากการบริโภคหมูที่ไม่สะอาดและสามารถติดต่อมาสู่คนได้ เช่น โรงแอนแทร็กซ์ โรคท้องร่วม โรควัณโรค โรคหูดับ รวมถึงป้องกันสารเร่งเนื้อแดง ซึ่งเท่าที่ปศุสัตว์ลงไปตรวจสอบพบว่ามีผู้กระทำผิดกฎหมายจำนวนมาก และขณะนี้มีนโยบายป้องปรามด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านทางสถานีวิทยุหรือผู้นำของชุมชนให้คนที่ทำผิดกฎหมาย เข้ามาทำให้ถูกกฎหมาย ด้วยการขอใบอนุญาตให้ถูกต้อง ถ้าพบว่ายังมีการกระทำผิดอีกก็จะต้องถูกจับกุมดำเนินคดีโดยชุดเฉพาะกิจที่ประกอบไปด้วย สารวัตรกรมปศุสัตว์ ปศุสัตว์จังหวัด และทหารจาก กอ.รมน.

ทั้งนี้ ใน จ.หนองบัวลำภู มีโรงฆ่าสัตว์ที่มีใบอนุญาตถูกต้องเพียง 11 แห่งเท่านั้น

สำหรับโทษตามกฎหมายของการลักลอบทำเขียงหมูและโรงฆ่าสัตว์เถื่อน มีอาทิ ไม่มีใบอนุญาตตั้งโรงฆ่าสัตว์ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ, ไม่มีใบอนุญาตจำหน่ายเนื้อสัตว์ จำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ฯลฯ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แม้กฎหมายจะกำหนดโทษไว้ถึงขั้นจำคุกเป็นปี และภาครัฐได้เดินหน้าปราบปรามอย่างจริงจัง แต่ก็ยังมีผู้ลักลอบทำเขียงหมูเถื่อนอยู่ เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ?

นายวันชัย ถวิลไพร

นายวันชัย ถวิลไพร ปศุสัตว์ จ.หนองบัวลำภู กล่าวถึงสาเหตุที่รัฐบาลประกาศกวาดล้างเขียงหมูและโรงฆ่าสัตว์เถื่อนว่า เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายจากซากสัตว์ที่มีเชื้อโรคต่างๆ โดยเฉพาะโรคติดต่อที่จากการบริโภคหมูที่ไม่สะอาดและสามารถติดต่อมาสู่คนได้

นายสายัญ (ขอสงวนนามสกุล) พ่อค้าเขียงหมูเถื่อนรายหนึ่งใน จ.หนองบัวลำภู เล่าว่า หากจะทำให้ถูกกฎหมาย ต้องนำหมูไปฆ่าที่โรงฆ่าสัตว์ของรัฐบาล ซึ่งมีอยู่ห่างจากที่พักอาศัยตนถึงกว่า 40 กิโลเมตร แล้วจะไปได้อย่างไรทุกวัน เช้า-เย็น เพียงแต่จะเอาหมูไปฆ่าวันละตัวสองตัว ต้องเสียทั้งเงินเป็นค่าน้ำมัน และเสียเวลารอคิว ยิ่งถ้าวันไหนมีงานบุญประจำปี ก็ไม่มีคนมาฆ่าให้อีก

“ปกติก็เสียภาษีสรรพากรตัวละ 20 บาท และภาษีโรงฆ่าสัตว์ตัวละ 50 บาทอยู่แล้ว จ่ายทุกเดือน หากต้องไปโรงฆ่าสัตว์ของรัฐบาลจะต้องเสียค่าน้ำมันเพิ่มอย่างน้อย 200-300 บาท รวมทั้งเสียค่าคนชำแหละอีก 300 บาท ทำให้เหลือกำไรจากการขายหมูตัวละไม่ถึง 1,000 บาท จึงตัดสินใจฆ่าที่โรงฆ่าสัตว์ของตัวเองดีกว่า เพราะทำปริมาณน้อย วันละ 1-2 ตัวเท่านั้น” นายสายัญระบุ

ส่วนการเดินหน้าปราบปรามเขียงหมูและโรงฆ่าสัตว์เถื่อนในเวลานี้ของรัฐบาล นายสายัญมองว่า น่าจะมาจากการที่นายทุนต้องการบีบให้เกษตรกรและผู้ขายรายย่อยต้องลำบาก ทั้งนี้ เขาเคยรับหมูจากบริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่งมาขาย แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะไม่ค่อยสด และไม่มีชิ้นส่วนเครื่องในที่คนอีสานนิยมมาใช้ประกอบอาหาร เลยเปลี่ยนมาทำโรงฆ่าสัตว์ของตัวเอง ซึ่งยืนยันว่าได้คำนึงถึงสุขอนามัยทุกอย่าง เพราะครอบครัวของตนก็บริโภคหมูที่มาจากโรงฆ่าสัตว์นี้ด้วย

สำหรับการทำโรงฆ่าสัตว์ขนาดเล็กที่ถูกต้องตามมาตรฐาน จะใช้เงินทุนราว 5-7 แสนบาท ซึ่งนายสายัญ ระบุว่า เขาไม่มีทางนำเงินขนาดนั้นไปลงทุน เพราะกลัวทำไปแล้วไม่คุ้มทุน เนื่องจากไม่มีใครมาใช้บริการโรงฆ่าสัตว์ของเขา เพราะลำพังแค่ชำแหละหมูขายเองวันละ 1-2 ตัว ยังขายแทบไม่หมดเลย

จากการสังเกตของผู้สื่อข่าว พบว่า การบริโภคหมูของคนอีสาน หากจะให้ชาวบ้านไปซื้อเนื้อหมูจากเขียงหมูที่มีใบอนุญาต จะต้องเข้าไปซื้อในเมืองใหญ่หรือตามห้างสรรพสินค้าเท่านั้น เพราะตามชุมชนต่างๆ ยังไม่มีเขียงหมูที่มีใบอนุญาต ส่วนมากมักใช้การชำแหละเองแล้วนำใส่รถกระบะเข้าไปตระเวณขายในชุมชุนต่างๆ

นายชูศักดิ์ รัตนวนิชย์โรจน์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า การที่รัฐจะไล่ต้อนผู้ค้ารายเล็กให้เข้าสู่ระบบความปลอดภัย ควรจะต้องมีการให้ความรู้หรือเตรียมการให้พร้อมด้วย เห็นได้จากโรงฆ่าสัตว์ที่ถูกกฎหมายในภาคอีสานมีน้อยมาก ถ้าจะให้มาลงทุนกันเองก็ไม่คุ้ม

ด้าน นายสุเมธ ปานจำลอง ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน มองว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นการใช้กฎหมายมาเป็นเครื่องมือ และอ้างเรื่องสุขลักษณะความปลอดภัย เพื่อบีบให้ผู้ค้ารายย่อยออกจากระบบ ไม่เฉพาะผู้ค้าหมู ยังรวมถึงเนื้อสัตว์ทุกอย่าง ทั้งนี้ เพื่อเปิดช่องให้ผู้ค้ารายใหญ่ที่มีทุนเข้ามาผูกขาดเป็นเจ้าของแต่เพียงผู้เดียว

แล้วการผูกขาดระบบค้าหมูของผู้ค้ารายใหญ่จะเกิดขึ้นได้อย่างไร ?

เรื่องนี้ต้องย้อนไปถึงสิ่งที่นายสุเมธและเครือข่ายเดินหน้าคัดค้านอยู่ นั่นคือการทำเกษตรกรรมในระบบ “เกษตรพันธสัญญา” หรือ contract farming ซึ่งก็คือการที่บริษัทเอกชนเข้ามาทำสัญญากับเกษตรกร โดยมีการกำหนดส่วนแบ่งรายได้กันชัดเจน พร้อมกับสร้างโรงเรียน จัดหาอาหาร พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ ยารักษาโรค วัคซีน ฯลฯ จัดหาสัตวแพทย์ประจำฟาร์ม และระบบบริหารจัดการให้ โดยมีคำโฆษณาที่เชิญชวนให้เกษตรกรเข้าร่วมเป็น contract farming ก็คือ มีรายได้ชัดเจน ไม่มีความเสี่ยง และผลตอบแทนน่าลงทุน

ปัจจุบัน กว่า 80% ของฟาร์มหมูในประเทศอยู่ในระบบ contract farming และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

โรงฆ่าสัตว์ที่ไม่มีใบอนุญาตของชาวบ้าน

โรงฆ่าสัตว์ที่ไม่มีใบอนุญาตของชาวบ้าน

นายศรุธ (นามสมมุติ) อดีตสัตวบาลบริษัทเกษตรพันธสัญญาหมูขุนรายใหญ่ของประเทศ ซึ่งปัจจุบันหันมาเปิดฟาร์มหมูของตัวเอง กล่าวว่า contract farming สำหรับการทำฟาร์มหมู เกษตรกรจะเป็นได้แค่ “คนงานให้อาหารกับล้างขี้หมู” ให้กับบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น และสิ่งที่โฆษณาก็ไม่สวยหรูที่บอกว่า 4-5 ปีจะคืนทุน เอาเขาจริงต้องใช้เวลามากกว่านั้นเป็นเท่าตัว และมีโอกาสที่เกษตรกรจะถูกลอยแพโดยไม่ได้เงินชดเชยแม้แต่บาทเดียว เพราะตอนที่เซ็นสัญญามักอ่านสัญญาไม่ครบถ้วน บางรายเคยขาดทุนถึงขั้นล้มลาย

ทั้งนี้ สาเหตุที่เขาขอใช้นามสมมุติ เนื่องจากกลัวจะส่งผลกระทบต่ออาชีพ เพราะยังต้องพึ่งบริษัทใหญ่อยู่ ทั้งเรื่องของอาหารและวัคซีนบางชนิด

นายศรุธเล่าให้ฟังว่า การทำฟาร์มหมูแบบ contract farming จะมีด้วยกัน 2 รูปแบบใหญ่ๆ คือ 1.จ้างเหมาเลี้ยง และ 2.ส่งเสริมประกันราคา

เขากล่าวว่า สำหรับรูปแบบแรก บริษัทเอกชนจะเป็นผู้จัดหาปัจจัยต่างๆ ในการทำฟาร์มหมูให้ทุกอย่าง เกษตรกรมีหน้าที่แค่ดูแลให้อาหาร ซึ่งรวมๆ เหมือนจะดูดี แต่จริงๆ บริษัทเอกชนควบคุมหมดทุกอย่าง รวมถึงระยะเวลาขายได้ บางครั้งหมูครบเวลาขุนแล้วก็ยังต้องเลี้ยงต่อไปเพราะหาตลาดไม่ได้ รูปแบบนี้ใช้เวลาเลี้ยงหมูรอบละ 6 เดือน ได้ค่าตอบแทนเฉลี่ยตัวละ 450 บาท แต่ละโรงเรือนเลี้ยงหมูได้ 600 ตัว หรือจะได้ค่าตอบแทนเฉลี่ย 2.7 แสนบาท/โรงเรือน/รอบ ขึ้นอยู่กับว่าดูแลได้ดีแค่ไหน ที่โฆษณาว่าจะได้สูงสุด 3.5 แสนบาท/โรงเรือน/รอบ เป็นกรณีที่ได้สูงสุด ความเสี่ยงของรูปแบบนี้ อยู่ที่การดูแลของสัตวบาทของบริษัทเอกชน ซึ่งบางครั้งไม่ทั่วถึง ทำให้เกษตกรได้ค่าตอบแทนลดลงไปอีก  ส่วนรูปแบบที่ 2 จะเข้ามาประกันราคา ตกลงราคาล่วงหน้า 6 เดือน และให้เกษตรกรตัดสินใจเองทุกอย่าง ต่างจากรูปแบบแรก แต่มีข้อแม้ว่าต้องซื้ออาหารและวัคซีนจากบริษัท ถ้าซื้อจากที่อื่นจะถือว่าละเมิดข้อตกลง ราคาที่ได้ก็จะลดลงหรือไม่รับซื้อหมูจากเกษตรกรอีกเลย

“บริษัทเอกชนขนาดใหญ่มักใช้รูปแบบที่ 1 มากกว่า เพราะรูปแบบที่ 2 ถูกมองว่าเอาเปรียบเกษตรกรมากเกินไปหน่อย แต่ไม่ว่าจะใช้รูปแบบไหนผลลัพธ์ก็ไม่ต่างกัน คือเกษตรกรเป็นผู้เสียเปรียบ ตอนทำงานเป็นสัตวบาลให้บริษัทอยู่ เคยมีกรณีที่เกษตรกรเลี้ยงหมูไม่ได้ตามมาตรฐาน แล้วบริษัทให้หยุดเลี้ยง ไม่ได้รับค่าชดเชยอะไรเลยเพราะถือว่าผิดเงื่อนไข เกษตรกรรายนั้นเลยต้องเป็นหนี้เป็นสินไป ส่วนตัวก็สงสารแต่ไม่รู้จะทำอย่างไร” นายศรุธกล่าว

นายสุเมธ ปานจำลอง ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ระบุ ฟาร์มหมูแบบ contract farming ถูกโฆษณาให้ฟังแต่ด้านดีว่าได้กำไร ไม่บอกด้านเสียเรื่องการขาดทุน งานวิจัยของเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน ระบุว่า ผู้เลี้ยงฟาร์มหมูที่เข้าระบบ contract farming ส่วนใหญ่แทบไม่เหลืออะไรเลยในการเลี้ยงหมูแต่ละรอบ อย่าว่าแต่ใช้หนี้เงินที่กู้มา 2-3 ล้านบาทเพื่อสร้างโรงเรือน แค่หักค่าน้ำ-ค่าไฟ ค่าแรงคนงานก็หมดแล้ว ทำให้อัตราการเป็นหนี้ของเกษตรกรเหล่านี้จะมีสูงมาก บางรายมีโอกาสเสียที่ดินเพราะเอาไปค้ำประกันเงินกู้ไว้กับธนาคารเพื่อหาเงินมาทำฟาร์มเลี้ยงหมู

สิ่งเหล่านี้ คือทุกข์ของผู้ประกอบการรายเล็กๆ ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของภาคอีสาน (และอาจจะทั้งประเทศ) ตั้งแต่ผู้เลี้ยงไปจนถึงผู้ขาย ที่ไม่หมูเลยหากจะให้อยู่รอดได้ในสภาวการณ์ปัจจุบัน

Cr : http://isaanrecord.com/th/




Close-คลิ๊กที่นี่เพื่อปิดหน้านี้ครับ