:: เนื้อหา ข้อมูล-ข่าวสาร-บทความ::

ข่าวสาร ความรู้/การเลี้ยงสุกร >> สุกรอนุบาลและขุน ทำอย่างไร...ให้ประสิทธิภาพสูง
01 ก.ย. 2559 13:47:51

สุกรอนุบาลและขุน ทำอย่างไร...ให้ประสิทธิภาพสูง

  • WeanedPigs-2-BIG_8.jpg

สุกรอนุบาลและขุน

ทำอย่างไร...ให้ประสิทธิภาพสูง

 

        เป็นที่ทราบกันดีว่า ราคาสุกรหน้าฟาร์มนั้นผันผวนขึ้นลงตามกลไกตลาด เช่นเดียวกับราคาอาหารสัตว์ที่ผันผวนตามราคาวัตถุดิบ เพราะฉะนั้น เพื่อให้ต้นทุนการผลิตต่อหน่วยต่ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงจึงต้องให้ความสำคัญกับการจัดการ โดยเฉพาะ “สุกรอนุบาล” และ “ลูกสุกรขุน” ให้มีประสิทธิภาพการผลิตสูง อัตราความสูญเสียต่ำ ช่วยให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าและอยู่ในอาชีพการเลี้ยงสุกรได้อย่างยั่งยืน

        ผศ.น.สพ.อลงกต  บุญสูงเนิน คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เปิดเผยว่า สุกรอนุบาลและขุนที่ดี เริ่มจากการดูแลสุกรสาว แม่พันธุ์ และลูกสุกรที่ถูกต้อง ยกตัวอย่าง ฟาร์มแห่งแรก ใช้เวลาเลี้ยงอนุบาล 8-9 สัปดาห์ก่อนลงขุน มีเปอร์เซ็นต์เสียหาย (ตายและคัดทิ้ง) ต่ำมาก อยู่ที่ 1.4 เปอร์เซ็นต์ อัตราการเจริญเติบโต 334 กรัมต่อวัน ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหาร 1.54 ฟาร์มที่ 2 เลี้ยงอนุบาล 9-10 สัปดาห์ อัตราการเจริญเติบโต 387 กรัมต่อวัน ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหาร 1.40 เปอร์เซ็นต์เสียหาย 3.6 เปอร์เซ็นต์ สม่ำเสมอตลอดทั้งปี ฟาร์มที่ 3 อัตราการเจริญเติบโต 370 กรัมต่อวัน ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหาร 1.30 เปอร์เซ็นต์เสียหาย 1.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่สุกรขุน ฟาร์มแรก อัตราการเจริญเติบโตอยู่ที่ 856 กรัมต่อวัน ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหาร 2.06 เนื่องจากเป็นฟาร์มที่ขายสุกรขุนตัวค่อนข้างเล็ก น้ำหนัก 85-86 กิโลกรัม เปอร์เซ็นต์สูญเสีย 2.4 เปอร์เซ็นต์ ฟาร์มที่ 2 น้ำหนักจับออกเฉลี่ย 107 กิโลกรัม อัตราการเจริญเติบโต 770 กรัมต่อวัน ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหาร 2.48 เปอร์เซ็นต์เสียหาย 1.7 เปอร์เซ็นต์ และฟาร์มที่ 3 การกินได้อยู่ที่ 1.9 กิโลกรัมต่อวัน ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหาร 2.35 เปอร์เซ็นต์เสียหาย 2.4 เปอร์เซ็นต์ ค่อนข้างคงที่ แสดงให้เห็นว่า ฟาร์มเหล่านี้มีการจัดการที่ดี นิ่ง และสม่ำเสมอ ส่งผลให้ฟาร์มมีประสิทธิภาพการผลิตดีต่อเนื่อง

        เมื่อพิจารณาและวิเคราะห์การจัดการที่ 3 ฟาร์ม ให้ความสำคัญในสุกรอนุบาลและขุนเริ่มจาก “หัวหน้างานและทีมงาน” ทั้งในอนุบาลและขุน ต้องมีจำนวนที่เหมาะสมและมีคุณภาพ โดยจำนวนของทีมงานควรเป็นเท่าใดนั้นอาจบอกได้เป็นตัวเลขที่ชัดเจนได้ยาก ขึ้นอยู่กับความผันแปรของปัจจัยการผลิตในแต่ละฟาร์ม เช่น ใช้อาหารเม็ด อาหารผง หรืออาหารเหลว ต้องขนอาหารเองหรือไม่ หรือต้องทำวัคซีนด้วยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้มีผลต่อจำนวนแรงงานทั้งหมด ดังนั้น จึงต้องพิจารณาว่า จำนวนแรงงานกับประสิทธิภาพการผลิตที่ดีนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจหรือไม่ ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างกันไปในแต่ละฟาร์ม ส่วนคุณภาพแรงงานเป็นปัจจัยที่สำคัญ เพราะประสบการณ์ของพนักงานมีผลต่อประสิทธิภาพการผลิต เช่น การตัดสินใจว่า สุกรป่วยหรือไม่ หรือมีสิ่งใดที่ผิดปกติไปหรือไม่ ประสบการณ์ของพนักงานจะช่วยให้ประเมินสภาวะที่เกิดขึ้นในฟาร์มได้แม่นยำ ทำให้แก้ไขได้อย่างทันท่วงที ลดการสูญเสีย แต่ถ้าขาดประสบการณ์สุกรเริ่มป่วยแล้วมองว่า ไม่ป่วย จนกระทั่งแสดงอาการออกมาแล้วก็แก้ไขไม่ทัน เกิดความเสียหายรุนแรง กระทบต่อประสิทธิภาพการผลิตในสุกรอนุบาลและสุกรขุน

  

      ความใส่ใจในงาน เป็นอีกส่วนที่พนักงานและผู้ปฏิบัติงานในฟาร์มต้องมี โดยทราบว่า สิ่งใดควรทำก่อน ทำหลัง สิ่งใดสำคัญไม่สำคัญ เช่น สุกรหย่านมลงอนุบาลวันแรก ควรให้อาหารทันที เพื่อให้ลูกสุกรฝึกกินอาหาร แต่บางฟาร์มเข้าใจไม่ถูกต้อง ไม่ให้ทันทีและให้หลังย้าย 3-4 ชั่วโมง จึงพลาดโอกาสการฝึกกินอาหารไป กระทบต่อการกินได้และการเติบโตในช่วงแรก และควรมีหัวหน้างานที่รู้จักสังเกต คิดและนำเสนอแนวทางพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตให้ดีขึ้น หากฟาร์มมีบุคลากรลักษณะนี้ควรรักษาไว้ให้ได้ เพราะเป็นคนที่มีพัฒนาการจะช่วยให้ประสิทธิภาพการผลิตในฟาร์มดีได้ต่อเนื่อง ต่างจากฟาร์มที่เปลี่ยนพนักงานบ่อยๆ ที่ประสิทธิภาพการผลิตจะไม่คงที่ แกว่งขึ้นลงตามการเปลี่ยนของพนักงาน เพราะผู้ปฏิบัติงานขาดประสบการณ์

        “ผลกระทบต่อเนื่อง” หรือ Carry over effect “ เช่น น้ำหนักแรกเกิดมีผลกระทบต่อน้ำหนักหย่านม, น้ำหนักหย่านมมีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตในช่วงอนุบาล หรืออัตราการเจริญเติบโตในช่วงสัปดาห์แรกของอนุบาลมีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตตลอดช่วงอนุบาล ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกฟาร์มต้องให้ความสำคัญ เพราะสุกรหย่านมลงมาสัปดาห์แรกเป็นช่วงวิกฤต ต้องดูแลเอาใจใส่อย่างดี ขณะที่อัตราการเจริญเติบโตในช่วงดูดนม ก็มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตในช่วงสุกรขุน ดังนั้น หากต้องการให้สุกรขุนมีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ก็ต้องจัดการให้ดีตั้งแต่ในเล้าคลอด

        น้ำหนักแรก จากการศึกษาวิจัยพบว่า น้ำหนักแรกเกิดมีผลกระทบต่อน้ำหนักหย่านม หากลูกสุกรแรกคลอดตัวใหญ่ น้ำหนักหย่านมก็มีแนวโน้มดีตามไปด้วย โดยน้ำหนักแรกเกิดที่เพิ่มขึ้นทุก 100 กรัม ทำให้น้ำหนักหย่านมเพิ่มขึ้น 700 กรัม ดังนั้น หากฟาร์มใดที่ลูกสุกรไม่สม่ำเสมอ ลูกสุกรตัวเล็ก ก็มีโอกาสทำน้ำหนักหย่านมดีได้ยาก จึงหาวิธีการให้ลูกตัวเล็กลดลง และน้ำหนักแรกเกิดดีขึ้นเพราะเป็นสิ่งที่ส่งผลไปถึงสุกรอนุบาล และขุน นอกจากนั้น น้ำหนักแรกเกิดที่ 1.9 กิโลกรัม ทำให้อัตราการเจริญเติบโตและประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารในสุกรขุนดีกว่าลูกสุกรที่มีน้ำหนักแรกเกิดต่ำ (ต่ำกว่า 1.2 กิโลกรัม) เกษตรกรต้องให้ความสำคัญให้ลูกสุกรคลอดออกมามีขนาดที่สม่ำเสมอกัน เพื่อสะดวกต่อการจัดการ

        น้ำหนักหย่านม มีผลต่อการเจริญเติบโตในอนุบาล หากน้ำหนักหย่านมดี การเติบโตในอนุบาลจะดีตามไปด้วย และเมื่อน้ำหนักหย่านมดี ก็ลดปัญหาการชะงักการเจริญเติบโต (set back) ในช่วงสัปดาห์แรกที่ลงอนุบาลด้วย ถือเป็นสิ่งที่เกษตรกรต้องให้ความสำคัญ ที่สำคัญน้ำหนักหย่านมที่ดีช่วยให้สุกรขุนขายได้เร็วขึ้น โดยน้ำหนักหย่านมที่ต่างกัน 1 กิโลกรัม ช่วยให้สุกรขุนขายได้เร็วขึ้น 3-5 วัน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตลดลง ขณะที่น้ำหนักหย่านมต่ออัตราการเจริญเติบโตในสุกรอนุบาล พบว่า มีผลประมาณ 35 เปอร์เซ็นต์ หมายความว่า น้ำหนักหย่านม 6.5 กิโลกรัม ใช้ระยะเวลาเลี้ยงอนุบาล 5 สัปดาห์ มีอัตราการเจริญเติบโต 379.5 กรัม ต่อวัน แต่ถ้าน้ำหนักหย่านม 7.5 กิโลกรัม อัตราการเจริญเติบโตเพิ่มเป็น 410.7 กรัมต่อวัน หรือน้ำหนักออกอนุบาลต่างกันประมาณ 2 กิโลกรัม เกษตรกรผู้เลี้ยงจึงต้องให้ความสำคัญกับน้ำหนักหย่านมซึ่งวิธีการที่ง่ายที่สุด หากมีเล้าคลอดเพียงพอ คือ ยึดระยะหย่านมออกไป เพราะจากการงานวิจัยในต่างประเทศพบว่า ลูกหย่านมตัวใหญ่ มีปัญหาทรุดหลังหย่านมต่ำ การเติบโตในอนุบาลดีขึ้น และยังมีงานวิจัยพบว่า อายุหย่านม น้ำหนักหย่านม มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตในอนุบาลและขุน ช่วยให้การตายในอนุบาลลดลง สุกรแข็งแรง เพราะได้รับนมจากแม่อย่างเต็มที่ นอกจากนั้น การเพิ่มการกินได้ และการจัดการลูกสุกรในเล้าคลอดที่ถูกต้องเป็นวิธีที่ช่วยเพิ่มน้ำหนักหย่านมได้

        จากการศึกษา ผลของอัตราการเจริญเติบโตในเล้าคลอด หรือผลจากน้ำหนักหย่านมกับระยะเวลาเลี้ยงลูก มีผลต่ออัตราการเจริญเติบโตในสุกรขุนประมาณ 24-25 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น หากต้องการให้อัตราการเจริญเติบโตในสุกรขุนดี ต้องทำให้อัตราการเจริญเติบโตในเล้าคลอด หรือน้ำหนักหย่านมให้ดีก่อน ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่การใส่ใจกับสุขภาพแม่พันธุ์ การจัดการในเล้าคลอด เพื่อให้อนุบาลและขุนมีประสิทธิภาพการผลิตดี ช่วยให้รอบการผลิตของฟาร์มเร็วขึ้น ได้รับผลตอบแทนเร็ว ต้นทุนการผลิตลดลง

      

  “สุขภาพในระดับฝูง” หรือ “Health Status” โดยใช้ผลซีโรโปรไฟล์เป็นเครื่องมือในการเฝ้าระวังโรคและบอกถึงสถานภาพของฟาร์มทั้ง โรคพีอาร์อาร์เอส เซอร์โคไวรัส และพีอีดี ด้วยการสุ่มเจาะเลือดเก็บตัวอย่างตรวจเป็นประจำทุก 6 เดือน เพื่อประเมินสถานการณ์และโปรแกรมการจัดการป้องกันโรค พร้อมกันนั้นยังมีการตรวจพีซีอาร์ที่บอกได้ถึงปริมาณเชื้อไวรัส ซึ่งปัจจุบันนำมาใช้ร่วมกับซีโรโปรไฟล์ในการเฝ้าระวังติดตามโรคพีอาร์อาร์เอส ในฝูง ยกตัวอย่าง ฟาร์มแรก เป็นฟาร์มที่ทำวัคซีนป้องกันโรคพีอาร์อาร์เอสและเซอร์โคไวรัส ผลการตรวจพบว่า ช่วงท้ายของการขุนภูมิคุ้มกันต่อโรคเซอร์โคไวรัสเริ่มหายไป ขณะที่โรคพีอาร์อาร์เอส ยังมีผลบวกอยู่ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อซ้ำในช่วงขุน แต่ฟาร์มนี้ไม่สูญเสียเนื่องจากทั้ง 2 โรค ไม่ได้ติดพร้อมกัน จึงไม่เกิดความเสียหาย ถือเป็นฟาร์มที่มีประสิทธิภาพการผลิตดี ฟาร์มที่ 2 ไม่ได้ทำวัคซีนป้องกันโรคพีอาร์อาร์เอสในอนุบาลและขุน ทำเฉพาะวัคซีนเซอร์โคไวรัสที่ 3 สัปดาห์ ซึ่งภูมิคุ้มกันต่อโรคเซอร์โคไวรัสในช่วงท้ายก็เกือบเป็นลบเช่นกัน แต่เป็นฟาร์มที่ขายสุกรขุนน้ำหนักน้อย ในช่วงที่เริ่มติดพีอาร์อาร์เอสซ้ำก็ขายออกไปแล้ว และทั้ง 2 โรค ไม่ได้เกิดพร้อมกัน ทำให้ไม่เสียหาย และมีประสิทธิภาพการผลิตดี ต่างจากฟาร์มที่มีปัญหาส่วนใหญ่โรคเซอร์โคไวรัสและพีอาร์อาร์เอสเกิดขึ้นพร้อมกัน เช่นในช่วง 16 สัปดาห์ในสุกรขุน จึงเกิดความเสียหายอย่างรุนแรง

        จากการศึกษาวิจัยติดตามภาวการณ์แพร่เชื้อพีอาร์อาร์เอสในฝูง โดยเฝ้าระวังจากตัวอย่างสายสะดือลูกแรกเกิด เลือดลูกสุกรก่อนหย่านม และเลือดแม่ช่วงเลี้ยงลูก เลือกใช้ตัวใดก็ได้ แต่สายสะดือลูกสุกรหากพบเชื้อก็บอกให้ทราบว่า ฟาร์มมีการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกตั้งแต่ช่วงอุ้มท้อง ถ้าเลือดลูกก่อนหย่านมเป็นบวก แสดงว่าได้รับเชื้อในระหว่างดูดนม และมีลูกบางตัวป่วยแล้วแพร่เชื้อไปยังตัวอื่นๆ และหากเลือดแม่สุกรมีผลบวกด้วย แสดงว่า แม่แพร่เชื้อลูกรับ เกิดปัญหาในโรงเรือนคลอด ก่อนแพร่ไปยังอนุบาล ส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตไม่ดี อัตราการป่วยและตายเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง ฟาร์มแรก เก็บตัวอย่างสายสะดือในแต่ละยูนิตพบว่ายูนิตที่ 4 พบเชื้อ 2 ตัวอย่าง หมายถึงมีโอกาสประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ที่มีเชื้อ เมื่อย้ายลงอนุบาลก็แพร่ไปยังตัวอื่นๆ และเกิดความเสียหายได้ ขณะที่ฟาร์มอีกแห่ง มีปัญหาอีโคไลในน้ำ แม่กินแล้วป่วย พบลูกป่วยตั้งแต่เล้าคลอด เมื่อตรวจพีซีอาร์ก็พบว่า เลือดลูกหย่านมเป็นบวก ซึ่งสุกรอนุบาลในฟาร์มก่อนลูกสุกรชุดที่ป่วยจะลงมาเสียหาย 2.5 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อลูกชุดที่ป่วยลงไปความเสียหายเพิ่มเป็น 5 เปอร์เซ็นต์ จึงจำเป็นต้องติดตามเฝ้าระวังการแพร่เชื้อพีอาร์อาร์เอสในแม่พันธุ์และเล้าคลอด เพราะความเสียหายอาจไม่พอที่เล้าคลอด แต่ไปพบที่อนุบาลและขุนแทน ส่วนจะรุนแรงมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ของลูกสุกรที่ได้รับเชื้อมา หากมีมากก็จะเสียหายรุนแรง ดังนั้น การดูแลสุขภาพสุกร จึงเป็นสิ่งสำคัญด้วยการทำให้ฝูงนิ่งต่อโรคพีอาร์อาร์เอส โดยเตรียมสุกรสาวทดแทนที่ถูกต้อง ดูแลสุขภาพแม่อุ้มท้อง การดูแลแม่เลี้ยงลูก และติดตามเฝ้าระวังสถานภาพของโรคอย่างต่อเนื่อง

        “Feed Budgeting” คือ การจัดการแบ่งสัดส่วนอาหารในระยะต่างๆ ให้เหมาะสมกับน้ำหนัก สายพันธุ์ และคุณภาพซาก ซึ่งหลังจากทำ Feed Budgeting คือ อัตรการเจริญเติบโต และประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารที่ดีขึ้น โดยไม่ต้องเปลี่ยนสูตรอาหาร แต่การทำ Feed Budgeting ของแต่ละฟาร์มไม่เหมือนกันต้องหาสัดส่วนอาหารที่เหมาะสมเอง แต่ต้องทราบว่า สุกรแต่ละช่วงมีการเจริญเติบโตอย่างไร ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่า ช่วงที่สุกรเติบโตเร็วมากๆ คือปลายอนุบาลถึงสุกรรุ่น ถือเป็นช่วงที่ต้องทำให้สุกรสร้างเนื้อแดงมากที่สุด จากการสะสมเนื้อแดงและการสะสมไขมัน พบว่า ช่วงน้ำหนัก 20 กิโลกรัม สุกรสะสมเนื้อแดงมากกว่าไขมันไปจนกระทั่งน้ำหนัก 70-75 กิโลกรัม ผันแปรตามสายพันธุ์ การสะสมโปรตีนจะเริ่มลดลง ไขมันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ควรเน้นการให้อาหารในช่วงเล็กรุ่นที่เป็นการสร้างเนื้อแดง แต่ไม่ควรเร่งอาหารในช่วงขุนมากจนเกินไป เพราะเป็นช่วงที่สะสมไขมัน จะทำให้คุณภาพซากแย่ลง

        การเปลี่ยนอาหารเป็นไขมัน ใช้อาหารประมาณ 80 กรัม ได้ไขมัน 20 กรัม เมื่อเทียบกับการเปลี่ยนอาหารเป็นเนื้อแดงที่ใช้อาหาร 100 กรัม เป็นเนื้อแดง 80 กรัม แสดงให้เห็นกว่า การสร้างเนื้อแดงใช้อาหารน้อยกว่าไขมัน ดังนั้น ในช่วงที่สุกรกำลังเจริญเติบโตต้องทำให้กินอาหารได้มาก เพื่อสร้างเนื้อแดงมากตามไปด้วยโดยการทำ Feed Budgeting เริ่มจากการกำหนดประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารที่ต้องการ อายุ น้ำหนักที่ต้องเปลี่ยนอาหาร และติดตามว่า ผมที่ได้เป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ และเฝ้าระวังคุณภาพซาก เช่น ต้องการให้ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหาร 2.5 น้ำหนักเพิ่มขึ้น 80 กิโลกรัม ใช้อาหารประมาณ 200 กิโลกรัม จากนั้นแบ่งสัดส่วน เป็นอาหารอนุบาล 25 กิโลกรัม อาหารอนุบาล 220 กิโลกรัม อาหารสุกรเล็ก 100 กิโลกรัม อาหารสุกรรุ่น 60 กิโลกรัม และอาหารสุกรขุน 20 กิโลกรัม ซึ่งเห็นว่า ช่วงสุกรเล็กที่เป็นช่วงที่เติบโตเร็วเป็นช่วงที่ได้รับอาหารมากที่สุด ช่วยให้ประสิทธิภาพการผลิตดี ต่างจากฟาร์มที่เน้นในช่วงสุกรขุนเพียงอย่างเดียว

        ยกตัวอย่าง ฟาร์มที่ทำ Feed Budgeting อย่างต่อเนื่อง โดยฟาร์มแรก สุกรอนุบาลลงขุนน้ำหนัก 22 กิโลกรัม น้ำหนักจับออก 105-107 กิโลกรัม กินอาหารอนุบาล 2 ประมาณ 15 เปอร์เซ็นต์ สุกรเล็ก 50 เปอร์เซ็นต์ สุกรรุ่น 25 เปอร์เซ็นต์ และสุกรขุน 10 เปอร์เซ็นต์ มีอัตราการเจริญเติบโต 700 กรัมต่อวัน ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหาร 2.4 ฟาร์มที่ 2 สุกรอนุบาลลงขุนน้ำหนัก 20 กิโลกรัม ขายน้ำหนัก 93-94 กิโลกรัม กินอาหารอนุบาล 2 ประมาณ 16 เปอร์เซ็นต์ อาหารสุกรเล็ก 46 เปอร์เซ็นต์ อาหารสุกรรุ่น 37 เปอร์เซ็นต์ และอาหารสุกรขุน 1 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากขายเร็ว มีอัตราการเจริญเติบโต 780 กิโลกรัม ประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหาร 2.3-2.4 การกินได้เฉลี่ย 1.9 กิโลกรัมต่อวัน แสดงให้เห็นว่าฟาร์มที่ควบคุมจัดการ Feed Budgeting ได้อย่างสม่ำเสมอ จะมีประสิทธิภาพการผลิตดีต่อเนื่อง ถือเป็นสิ่งที่แต่ละฟาร์มควรทำโดยทดลองหาสัดส่วน Feed Budgeting ที่เหมาะสมกับฟาร์ม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้ดียิ่งขึ้น

        การทำ Feed Budgeting ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ และคุณภาพซากหากไม่ทดลองก็อาจเกิดปัญหากับคุณภาพซากได้ เพราะมีการสะสมไขมันมากเกินไป ที่สำคัญต้องดูแลไม่ให้สุกรป่วย มิฉะนั้น การกินได้จะลดลง เกษตรกรผู้เลี้ยงต้องติดตามการกินได้ของสุกรด้วยว่าเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ ขณะที่ความแตกต่างของระดับโภชนะในสูตรอาหารและคุณภาพของอาหารที่ใช้ก็มีความสำคัญ ระดับโภชนะที่ถุงอาหารกับความเป็นจริงแตกต่างกันหรือไม่ การผสมวัตถุดิบที่ใช้ดีหรือไม่ โดยเฉพาะอาหารที่มีการใช้วัตถุดิบทดแทนมีโอกาสทำให้คุณภาพอาหารแตกต่างออกไป เพราะคุณภาพของวัตถุดิบทดแทนแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน

        “สิ่งแวดล้อม” เริ่มจากอุณหภูมิที่เหมาะสมกับแต่ละช่วงอายุ โดยอุณหภูมิภายในโรงเรือนมีผลต่อการกินได้ของสุกรอนุบาล หากอุณหภูมิสูงขึ้น การกินได้มีแนวโน้มลดลง และยิ่งเห็นชัดเจนเมื่อสุกรตัวใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะรุ่นขุนที่ต้องทำให้โรงเรือนโล่งโปร่งเย็นสบาย หรือเลี้ยงในโรงเรือนระบบปิดที่ดี อุณหภูมิในโรงเรือนเหมาะสม ช่วยให้สุกรกินอาหารได้มากขึ้น แต่ในช่วงอนุบาลและสุกรเล็กต้องปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม เพราะหลังหย่านมสุกรอนุบาลยังต้องการอุณหภูมิสูง หลังจากนั้นก็ลดลงเรื่อยๆ ซึ่งหลายฟาร์มทำส้วมน้ำไว้ที่ท้ายเล้าอนุบาล เพื่อไว้ให้สุกรคลายร้อนในช่วงท้ายอนุบาล ส่งผลให้การกินได้และประสิทธิภาพการผลิตดีต่อเนื่อง

        ความสะอาดของโรงเรือน จากการศึกษาจำนวนเชื้อที่อยู่ในโรงเรือนกับการเติบโตของสุกรพบว่า หากปริมาณเชื้อมาก อัตราการเจริญเติบโตก็ลดลง แสดงให้เห็นถึงปัญหาของการได้สัมผัสเชื้อ และเมื่อสุกรได้รับเชื้อก็ต้องเปลี่ยนสารอาหารไปเป็นภูมิคุ้มกันต่อสู้กับเชื้อโรค ดังนั้น จึงต้องเน้นการทำความสะอาดโรงเรือน ป้องกันเชื้อโรคสะสม มีการล้างพักคอกตามมาตรฐาน และทำความสะอาดคอกเป็นประจำ นอกจากนั้น ควรเลี้ยงสุกรแบบเข้าออกหมด เพื่อสะดวกต่อการจัดการ นอกจากนั้นโรงเรือนต้องมีการระบายอากาศที่ดี ไม่มีปัญหาแก๊สแอมโมเนียสะสม

        “การดูแลเป็นพิเศษในแต่ละช่วงอายุ” ฟาร์มที่ประสิทธิภาพการผลิตดีมักมีเทคนิคการจัดการพิเศษเสริมในแต่ละช่วงอายุ เริ่มจากการจัดการในวันแรกและการคัดขนาด ซึ่งมีการศึกษาวิจัยพบว่าหากมีการจัดขนาดลูกสุกรที่สม่ำเสมอจะช่วยให้มีอัตราการเจริญเติบโตที่ดี ขณะที่การเคลื่อนย้ายสุกรอนุบาลควรทำในช่วงเช้า เนื่องจากมีผลกระทบต่อการเจริญเติบโตน้อยกว่าการเคลื่อนย้ายในช่วงบ่ายและเย็น เพราะหลังจากย้ายในช่วงเช้าแล้วยังมีเวลาดูแลลูกสุกรกลุ่มนี้อีก 6-8 ชั่วโมง จึงมีโอกาสจัดไม่ให้สุกรเกิดปัญหาทรุดหลังย้าย ที่กระทบต่อการเจริญเติบโต ซึ่งฟาร์มที่ประสิทธิภาพการผลิตจะย้ายสุกรลงอนุบาลในช่วงเช้า ยกตัวอย่าง ฟาร์มแห่งหนึ่งสุกรลงอนุบาลวันแรกมีอาหารเปียก อาหารแห้ง น้ำและสิ่งปูรองด้านท้าย ไฟกก และส้วมน้ำ เมื่อนำไฟกกออกแล้วก็เติมน้ำที่ส้วมน้ำ ลูกสุกรกระจายตัวในคอกได้ดี อุณหภูมิและการระบายอากาศ และความหนาแน่นเหมาะสม ช่วยให้การกินได้ดี มีประสิทธิภาพการผลิตสูง

        การดูแลลูกสุกรตัวเล็ก หลายฟาร์มที่มีโรงเรือนและคอกเพียงพอ หรือสามารถจัดการได้ก็แบ่งขนาดลูกสุกรเป็น เกรด A คือตัวใหญ่ เกรด B ขนาดกลาง และเกรด C คือ ตัวเล็ก แยกเลี้ยงในแต่ละคอก โดยมีการเสริมนม อาหารเหลว ให้กับลูกตัวเล็กเป็นพิเศษโดยให้นมผงที่รางอาหาร หรือนมละลายน้ำ หรือนมละลายน้ำราดบนอาหารให้เป็นอาหารเปียก ซึ่งหลังจากเสริมไปประมาณ 7-10 วัน กลุ่มตัวเล็กจะมีขนาดใหญ่ขึ้น สุขภาพดีขึ้น เติบโตทันตัวอื่นๆ ก่อนย้ายลงโรงเรือนขุน การเสริมสารอิเล็คโตรไลท์ เพราะลูกตัวเล็กมีภาวะสูญเสียน้ำได้ง่ายกว่าลูกสุกรปกติ จึงต้องเฝ้าระวังการขาดน้ำของลูกตัวเล็ก โดยให้วันละ 3-4 รอบ ขณะที่กล่องกก ไฟกก ต้องให้นานเป็นพิเศษในลูกตัวเล็ก เนื่องจากทนความหนาวเย็นได้ค่อนข้างต่ำกว่าลูกสุกรตัวใหญ่ การใช้ยาปฏิชีวนะฉีดหรือผสมน้ำให้กินเป็นช่วงๆ โดยพิจารณาว่า สุกรป่วยเมื่อใด ซึ่งต้องอาศัยพนักงานที่มีประสบการณ์พอสมควรที่สังเกตความผิดปกติว่า สุกรเริ่มป่วยและตัดสินใจให้ยาทันที หรือหากเปอร์เซ็นต์การป่วยเพิ่ม 20-30 เปอร์เซ็นต์ ก็ผสมยาในอาหาร ซึ่งการตัดสินใจที่รวดเร็วช่วยป้องกันไม่ให้สุกรป่วยเพิ่ม โดยเฉพาะในลูกสุกรตัวเล็ก ขณะที่การแยกสุกรตามยูนิต เป็นสิ่งที่หลายฟาร์ม โดยเฉพาะฟาร์มขนาดใหญ่ทำ แต่ต้องมีโรงเรือนอนุบาลที่มากพอ การจัดการปัญหาลูกบางส่วนที่อมโรคมา โดยฟาร์มใหญ่มีโอกาสทำให้ลูกมีภูมิคุ้มกันสม่ำเสมอกันได้ยาก ดังนั้น หากมีการจัดยูนิตและไหลสุกรตามยูนิตได้ ก็จะช่วยลดการป่วย และช่วยให้ประสิทธิภาพการผลิตดีตามไปด้วย

        การจัดการอุณหภูมิและการระบายอากาศที่ดี ช่วยป้องกันปัญหาความเครียดจากความหนาวเย็นที่กระทบต่อการเจริญเติบโตโดยเฉพาะสุกรอนุบาล ที่ในช่วง 2 สัปดาห์แรกต้องการความอบอุ่น สัปดาห์ต้องการอุณหภูมิเฉลี่ย 31 องศาเซลเซียส จากนั้นก็ลดลงสัปดาห์ละ 1 องศาเซลเซียส ซึ่งเกษตรกรต้องจัดการให้ถูกต้องทั้งกล่องกก ไฟกก เพียงพอหรือไม่ หากไม่พอก็ต้องแก้ไข กกให้อุ่นเมื่ออายุ 7-8 สัปดาห์ก็ใส่น้ำในส้วมน้ำ เปิดพัดลม ให้โรงเรือนเย็น สิ่งเหล่านี้ต้องอาศัยความเอาใจใส่ในการจัดการสุกรแต่ละช่วงอายุ โรงเรือนอนุบาลส่วนใหญ่มีผ้าม่านกันลม และปิดม่าน เพราะกลัวสุกรอนุบาลหนาว แต่การทำให้โรงเรือนอบอุ่นไม่เพียงพอ ต้องให้มีการระบายอากาศที่ดีด้วย มิฉะนั้น จะเกิดความเครียดและสูญเสียจากการป่วยได้ ดังนั้น โรงเรือนอนุบาลต้องมีผ้าม่านและต้องระบายอากาศดี คือ ปิดผ้าม่านด้านล่างป้องกันไม่ให้ลมปะทะตัวสุกรโดยตรง แต่ด้านบนไม่กั้น เพื่อให้ระบายแก๊สต่างๆ ช่วยให้สุกรอยู่สบายไม่เครียด และเจริญเติบโตดี

        การกินได้จากการศึกษาพบว่า มีผลต่อการเจริญเติบโตในสุกรอนุบาลและขุน จึงต้องหาวิธีการให้สุกรกินได้มากที่สุด พื้นที่กินอาหารต้องเพียงพอ มีอาหารให้กินอย่างเพียงพอ สุกรอนุบาลต้องการพื้นที่กินมาก คุณภาพอาหารดี สดใหม่ ขณะที่สุกรทุกช่วงอายุชอบอาหารเปียก ดังนั้น การทำอาหารเปียกจะช่วยเพิ่มการกินได้ และหากสุกรมีปัญหาแตกไซต์เกิน 10 เปอร์เซ็นต์ ต้องตรวจสอบว่า เกิดจากพื้นที่การกินไม่เพียงพอหรือไม่ และที่สำคัญแรงงานต้องมีคุณภาพในการจัดการเพื่อเพิ่มการกินได้ ซึ่งสุกรยิ่งกินได้มาก อัตราการเจริญเติบโตยิ่งดีทั้งในสุกรอนุบาลและสุกรขุน

        เทคนิควิธีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในสุกรอนุบาลและขุน เกษตรกรผู้เลี้ยงแต่ละฟาร์มควรนำไปปรับใช้อย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในฟาร์มของตนเอง โดยปัจจัยสำคัญอยู่ที่ หัวหน้างาน คุณภาพทีมงาน การจัดการที่ต้องดีตลอดห่วงโซ่การผลิตสุกร การเฝ้าระวังติดตามสุขภาพสุกรตลอดเวลา การจัดการสิ่งแวดล้อมต่างๆ ให้เหมาะสม โดยเฉพาะความสะอาด การเลี้ยงแบบเช้าออกหมด ถือเป็นพื้นฐานสำคัญที่ละเลยไม่ได้ การทำ Feed Budgeting เพื่อยกระดับประสิทธิภาพการเปลี่ยนอาหารให้ดีขึ้น เป็นสิ่งที่แต่ละฟาร์มต้องศึกษาทดลองและหาจุดที่เหมาะสมกับฟาร์มรวมถึงการดูแลจัดการลูกสุกรตัวเล็ก เพื่อลดการสูญเสีย หากปฏิบัติอย่างถูกต้องก็จะช่วยให้ประสิทธิภาพการผลิตของฟาร์มดีขึ้น...

 

ที่มา :  หนังสือสัตว์เศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 780 ปักษ์แรกกรกฎาคม 2559 (หน้า 31-35)




Close-คลิ๊กที่นี่เพื่อปิดหน้านี้ครับ