:: เนื้อหา ข้อมูล-ข่าวสาร-บทความ::

ข่าวสาร ความรู้/การเลี้ยงสุกร >> ลดการสูญเสีย ด้วยการจัดการสุขภาพสุกร
02 พ.ย. 2559 20:15:46

เพิ่มผลผลิต ลดสูญเสียด้วย “การจัดการสุขภาพสุกร”

  • PHOTO-pig-farm-696x464.jpg

เพิ่มผลผลิต ลดสูญเสียด้วย “การจัดการสุขภาพสุกร”

รศ.น.สพ.กิจจา  อุไรรงค์

 

        ในภาวะที่ต้นทุนการผลิตสุกรมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะต้นทุนอาหารสัตว์ที่แปรผันตามราคาวัตถุดิบ ประกอบกับต้นทุนค่าแรงงาน ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ผู้เลี้ยงควบคุมไม่ได้ เช่นเดียวกับราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ปรับขึ้นลงตามตลาด ดังนั้น เกษตรกรจึงต้องให้ความสำคัญกับการทำให้ประสิทธิภาพการผลิตดีที่สุด ด้วยการจัดการดูแลสุขภาพสุกรป้องกันความเสียหายจากโรคต่างๆ เพื่อเพิ่มผลผลิต ลดต้นทุน มีศักยภาพในการแข่งขัน และได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

        รศ.น.สพ.กิจจา  อุไรรงค์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เปิดเผยว่า การจัดการสุขภาพสุกร ต้องเริ่มจาก “สุกรสาวทดแทน” เพราะสุขภาพของฝูงแม่พันธุ์ และสุกรภายในฟาร์มจะดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการเตรียมสุกรสาวทดแทน โดยเฉพาะการทดแทนสุกรสาวต้องควบคุมให้อยู่ในช่วง 30-40 เปอร์เซ็นต์ เพื่อป้องกันไม่ให้โรคพีอาร์อาร์เอส สร้างปัญหาขึ้นในฟาร์ม หากฟาร์มใดจัดการสุกรสาวทดแทนผิดพลาดก็จะเสียหายจากโรคพีอาร์อาร์เอส ก่อนชักนำไปสู่โรคแทรกซ้อนอื่นๆ อย่างรุนแรง ดังนั้น เจ้าของฟาร์มต้องให้ความสำคัญกับการปลดแม่สุกรตามรอบเป็นหลัก ไม่ควรปรับขนาดฝูงขึ้นลงตามภาวะราคา เช่น ราคาไม่ดีก็ปลดแม่จำนวนมาก เมื่อราคาดีก็ยืดอายุการเลี้ยง หรือเร่งนำสุกรสาวเข้าทดแทน หรือบางฟาร์มอาจนำสุกรขุนตัวเมียขึ้นทดแทน ส่งผลให้ปริมาณสุกรสาวในฝูงแม่พันธุ์สูง และเกิดความเสียหาย เนื่องจากการเตรียมสุกรสาว และการทดแทนไม่ถูกต้อง

        เพราะฉะนั้น การเตรียมสุกรทดแทนควรเตรียมเป็นชุดต่อเนื่อง โดยคำนวณปริมาณสุกรทดแทนในอัตราส่วน 30-40 เปอร์เซ็นต์ต่อปีแล้วเฉลี่ยว่า ควรคัดทิ้งและทดแทนอย่างสม่ำเสมอในแต่ละเดือน ซึ่งหัวใจสำคัญของการเตรียมสุกรทดแทน คือ การปรับสภาพภูมิคุ้มกันโรค ให้สุกรทดแทนมีภูมิใกล้เคียงกับฝูงแม่พันธุ์ โดยเฉพาะภูมิคุ้มกันต่อโรคพีอาร์อาร์เอส เพื่อให้สถานะโรคพีอาร์อาร์เอส ของฝูงนิ่ง สุกรทดแทนต้องไม่เป็นตัวแพร่เชื้อ ซึ่งปัจจุบันนิยมใช้วิธีการทำวัคซีนป้องกันโรคพีอาร์อาร์เอส พร้อมกันนั้นต้องปรับภูมิคุ้มกันต่อโรคประจำถิ่นในฟาร์ม เช่น อีโคไล ไข้หนังแดง พาร์โวไวรัส ด้วย การคลุกกับแม่ปลด ป้องกันไม่ให้สุกรทดแทนป่วยหลังนำเข้าไปในฝูงแม่พันธุ์

        ฟาร์มที่พบความเสียหายจากโรคพีอาร์อาร์เอส อยู่เป็นประจำส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาแม่นมแห้ง ซึ่งเกิดได้จากหลายปัจจัยทั้งความเครียด คุณภาพอาหาร คุณภาพน้ำ การติดเชื้อ และการได้รับสารพิษ ซึ่งแม้ได้รับเพียงเล็กน้อยและดูดซึมเข้ากระแสเลือดก็มีผลให้ร่างกายหลั่งโปรแลคตินที่มีผลต่อการหลั่งนมน้ำเหลือง และการสร้างน้ำนม เมื่อแม่นมแห้ง ไม่มีนมน้ำเหลือง ลูกสุกรก็ไม่ได้รับภูมิคุ้มกัน จึงไวต่อการติดเชื้อและเสียหาย โดยเฉพาะจากปัญหาพีอีดี อีกหนึ่งโรคสำคัญที่สร้างความเสียหายในกระบวนการผลิตสุกร ซึ่งหลายฟาร์มประสบปัญหาซ้ำซาก ก็เกิดจากการไม่ได้รับนมน้ำเหลืองอย่างเพียงพอ เพราะแม่นมแห้ง แสดงให้เห็นถึงการจัดการโรงเรือนคลอดที่ล้มเหลว

        “สารพิษจากเชื้อรา” หรือ “ชีวพิษเชื้อรา” (Mycotoxins) ถือเป็นอีกปัจจัยที่มีผลต่อการจัดการสุขภาพสุกร เพราะสารพิษจากเชื้อ ราคาเพียงปริมาณเล็กน้อยก็มีผลในการกดภูมิคุ้มกัน เช่น ซีราลีโนน 100 ppb ขึ้นไปก็มีผลให้แม่สุกรเกิดความเครียด ไม่สร้างน้ำนม นมแห้งหลังคลอด ส่วนใหญ่พบในรำ และกากถั่วเหลือง หรือฟูโมนิซินที่พบมากในข้าวโพด เพียง 1-10 ppm ก็ถือว่า สูงมากขณะที่ปริมาณที่ยอมรับได้ในอาหารสุกร คือ 300 ppb ซึ่งหากฟาร์มใดกินอาหารที่มีฟูโมนิซิน ค่อนข้างสูงจะเกิดภาวะปอดบวมน้ำ หรือในสุกรเล็กรุ่นได้รับเชื้อพีอาร์อาร์เอส เกิดการเสริมฤทธิ์กันให้เกิดปัญหา PRDC หรือ โรคระบบทางเดินหายใจซ้ำซ้อน ดังนั้น หากเป็นไปได้จึงไม่แนะนำให้ฟาร์มใช้ข้าวโพดเป็นวัตถุดิบในอาหารแม่พันธุ์ แต่ให้ใช้ในสุกรรุ่นและขุนเป็นหลัก เพื่อป้องกันปัญหาสารพิษจากเชื้อราฟูโมนิซิน สร้างความเสียหายร่วมกับโรคพีอาร์อาร์เอส และเซอร์โคไวรัสที่หากได้รับในปริมาณมากอาจเกิดอาการตับอักเสบรุนแรง ปอดบวมน้ำ สุกรป่วยเรื้อรังจากโรคปอดหรือระบบทางเดินหายใจ พบปัญหาแผลเลือดออก สุกรตัวซีด และถ่ายเป็นเลือด

        สารพิษจากเชื้อราที่ปนเปื้อนในอาหารมีผลในการกดภูมิคุ้มกันเมื่อสุกรได้รับสารพิษจากเชื้อราในปริมาณต่ำๆ อย่างต่อเนื่องจะทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง จุลชีพและแบคทีเรียที่อยู่ในร่างกายสุกร เช่น อีโคไลที่ลำไส้ สเตรปโตคอคคัส ซูอิสในต่อมทอลซิน และฮีโมฟิลัส พาราซูอิส ที่ปกติสุกรอยู่สบาย ไม่เครียด ไม่มีภาวะกดภูมิคุ้มกัน ก็ไม่มีปัญหา แต่เมื่อภูมิคุ้มกันลด เชื้อเหล่านี้ก็จะสร้างปัญหาขึ้นในฟาร์มทันที ดังนั้น ยาปฏิชีวนะที่ใช้ในการควบคุมโรคจึงจำเป็นต้องใช้เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อเหล่านี้สร้างความเสียหายในฟาร์ม

        “โรคพีอาร์อาร์เอส  (PRRS: Porcine Reproductive and Respiratory Syndromes)” ยังคงเป็นปัญหาหลักของความสูญเสียในอุตสาหกรรมการผลิตสุกรไทยและทั่วโลก ซึ่งหลักสำคัญในการควบคุมโรคพีอาร์อาร์เอส คือ การจัดการในฟาร์มนิ่งต่อโรคพีอาร์อาร์เอส เนื่องจากเชื้อพีอาร์อาร์เอสมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของสุกร การกำจัดเชื้อออกจากร่างกายต้องใช้เวลานานเมื่อเทียบกับไวรัสอื่นๆ เพราะเชื้อพีอาร์อาร์เอส อยู่ในร่างกายได้นาน เช่น ในต่อมน้ำเหลืองอยู่ได้ประมาณ 5 เดือน จึงต้องจัดการให้ฟาร์มนิ่ง ซึ่งหมายถึง การทำให้สุกรสาวเข้าผสม สุกรเข้าคลอด แม่พันธุ์ไม่แพร่เชื้อพีอาร์อาร์เอส ทำให้ลูกสุกรไม่ติดเชื้อจากแม่ โดยอาศัยกระบวนการจัดการและโปรแกรมการทำวัคซีนป้องกันโรคที่ถูกต้อง และเหมาะสมในแต่ละฟาร์ม ช่วยให้ฟาร์มหย่านมลูกสุกรโดยไม่ติดเชื้อพีอาร์อาร์เอส จากโรงเรือนคลอด

        หากจัดการให้โรคพีอาร์อาร์เอส ในฟาร์มนิ่งไม่ได้ ก็จะพบปัญหาได้ตลอดเวลา ซึ่งความเสียหายจากปัญหาพีอาร์อาร์เอส คือแม่สุกรท้องแก่ 80-90 วัน แท้ง หรือคลอดก่อนกำหนด มีการติดเชื้อผ่านรกไปยังตัวอ่อนในท้อง แต่ถ้าเป็นแม่อุ้มท้องต่ำกว่า 80 วัน  ไม่พบการติดเชื้อผ่านรก การติดเชื้อในกระแสเลือดส่วนใหญ่ไม่ทำให้เกิดการติดเชื้อผ่านรก มีภาวะไข้ และแท้งได้ประปรายจากการมีไข้สูง มีการติดเชื้อแทรกซ้อนจากสเตรปโตคอคคัสหรืออีโคไล มักพบในโรงเรือนคลอด ฟาร์มไม่นิ่ง แม่เข้าคลอดป่วยก่อนและหลังคลอด มีเลือดออกที่รูขุมขนจากการติดเชื้อและได้รับสารพิษจากแบคทีเรีย โดยโรคพีอาร์อาร์เอส มักเสริมฤทธิ์กับสารพิษจากเชื้ออีโคไล ส่งผลให้เกิดอาการปอดบวมอย่างรุนแรง เลือดออก และมีโอกาสที่สุกรจะตายอย่างเฉียบพลัน ขณะที่ปัญหาแม่นมแห้งก็แสดงให้เห็นว่า โรคพีอาร์อาร์เอส ในฟาร์มยังไม่นิ่ง หรือฟาร์มกำลังประสบปัญหาสารพิษจากเชื้อราในอาหาร ส่วนความเสียหายจากโรคพีอาร์อาร์เอส ที่ไม่รุนแรงกับความเสียหายจากการได้รับสารพิษจากเชื้อรา มีความใกล้เคียงกันมาก ต้องอาศัยการเก็บตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ เพื่อยืนยัน และมีโอกาสสูงมากที่สารพิษจากเชื้อรา จะเป็นปัจจัยโน้มนำให้เกิดโรคพีอาร์อาร์เอส ขึ้นในฟาร์ม

        หากควบคุมโรคพีอาร์อาร์เอส ไม่ได้ ลูกสุกรหย่านมติดโรคพีอาร์อาร์เอส จะส่งผลให้ฟาร์มพบความเสียหายจากโรคระบบทางเดินหายใจซ้ำซ้อน และโรคพีซีวีเอดี (PCVAD) ทำให้เกิดความเสียหายในอนุบาล ขณะที่ลูกได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่จะป้องกันการติดเชื้อพีอาร์อาร์เอส ได้ประมาณ 5-6 สัปดาห์ หลังจากหย่านมลงโรงเรือนอนุบาลแล้วก็มีโอกาสติดเชื้อพีอาร์อาร์เอสได้ โดยเฉพาะในฟาร์มที่เลี้ยงสุกรพันธุ์และสุกรขุนที่เดียวกัน เพราะเมื่อภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่ต่ำลงก็จะเริ่มติดเชื้อจากรุ่นพี่ในโรงเรือนอนุบาล และมักเกิดการติดเชื้อพีอาร์อาร์เอส ซ้ำอีกในช่วงสุกรเล็กรุ่น ดังนั้นปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจซ้ำซ้อนในฟาร์มส่วนใหญ่พบในโรงเรือนอนุบาล

        ขณะที่โรคพีซีเอดี เป็นความเสียหายที่คล้ายกับโรคระบบทางเดินหายใจซ้ำซ้อนแต่มีความรุนแรงมากกว่า เนื่องจากเชื้อเซอร์โคไวรัสทำลายเนื้อเยื่อน้ำเหลือง ต่อมน้ำเหลือง จึงเป็นการติดเชื้อทุกระบบ ต่างจากโรคระบบทางเดินหายใจซ้ำซ้อนที่เกิดจากอิทธิพลของโรคพีอาร์อาร์เอสและการติดเชื้อแทรกซ้อน สร้างความเสียหายที่ระบบทางเดินหายใจในลูกสุกรขุน ซึ่งพีซีวีเอดีมีโอกาสพบในโรงเรือนอนุบาลได้ค่อนข้างยาก เพราะภูมิคุ้มกันจากแม่ป้องกันให้ลูกได้ประมาณ 10 สัปดาห์ หากพบในเล้าอนุบาลแสดงว่า แม่ป่วยและมีปัญหานมแห้ง ทำให้ลูกไม่ได้รับภูมิคุ้มกัน ดังนั้น โรคพีซีวีเอดีจึงพบในช่วงสุกรเล็กรุ่นเป็นหลัก

        “สารพิษจากแบคทีเรีย” หรือ LPS ของเชื้ออีโคไล และแบคทีเรียแกรมลบ มีอิทธิพลต่อการเจ็บป่วยของสุกร จึงต้องระมัดระวังการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียในวัตถุดิบอาหารสัตว์ โดยเฉพาะวัตถุดิบแหล่งโปรตีนจากสัตว์ ทั้ง ปลาป่น เนื้อและกระดูกป่นที่ต้องเฝ้าระวังเชื้ออีโคไล ซัลโมเนลลา ขณะที่น้ำก็ต้องเฝ้าระวังการปนเปื้อนเชื้ออีโคโลและซัลโมเนลลาเช่นกัน มิฉะนั้น อาจเกิดปัญหาสุกรป่วยอย่างรุนแรงจากปฏิกิริยาร่วมกันระหว่างโรคพีอาร์อาร์เอส และสารพิษจากแบคทีเรีย ยกตัวอย่างฟาร์มแห่งหนึ่งขนาด 4,000 แม่ เสียหายในอนุบาลกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการใช้ปลาป่นที่ปนเปื้อนเชื้ออีโคไล เกิดปัญหาร่วมกับเชื้อพีอาร์อาร์เอส โดยสารพิษจากเชื้ออีโคไลทำให้สุกรมีจุดเลือดออกใต้ผิวหนังคล้ายกับการติดอหิวาห์สุกร เมื่อผ่าซากสุกรป่วยพบ ปอดติดเชื้อรุนแรง ลำไส้อักเสบ แต่ไม่มีอาการท้องเสีย

        ในสุกรเล็กรุน โรคที่สร้างความเสียหายส่วนใหญ่เป็นอาการปอดบวม หรือปอดบวมเฉียบพลัน หรือเรื้อรังจากการติดเชื้อพาสเจอร์โรซิส ซึ่งเชื้อพาสเจอเรลลาอาจอยู่ในระบบทางเดินหายใจสุกรได้โดยไม่สร้างปัญหา แต่เมื่อเกิดภาวะกดภูมิคุ้มกัน ติดเชื้อพีอาร์อาร์เอสหรือเซอร์โคไวรัส เชื้อก็จะสร้างปัญหาอย่างรุนแรง อีกโรคที่พบ คือ อีไลติส ที่ทำให้เกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเป็นเลือด สุกรแคระแกน ถือเป็นอีกปัญหาที่ต้องใส่ใจ เพราะมีบทบาทสำคัญต่อความเสียหายในระบบการผลิตสุกรทั่วโลก

        ปัจจุบันหากฟาร์มควบคุมโรคพีอาร์อาร์เอสและเซอร์โคไวรัสไม่ได้ สุกรจะเสียหายจากโรคระบบทางเดินหายใจ ปอดบวมเฉียบพลัน เรื้อรัง ปอดติดชายโครง ลักษณะอาการคล้ายกับการติดเชื้อมัยโคพลาสมา หรือบางฟาร์มอาจพบปัญหาโรคเอพีร่วมด้วย ส่วนโรคอีไลติสถือเป็นโรคที่สำคัญในการผลิตสุกรขุน เพราะมีโอกาสที่จะติดเชื้อเข้าไปทำให้เกิดอาการลำไส้เกิดการหนาตัว ฉีกขาด หลุดลอก มีเลือดออก ทำให้สุกรขุนในระยะท้ายมีอาการถ่ายเป็นเลือด หรืออาจพบในสุกรทดแทน และเกิดความเสียหาย ซึ่งปกติแล้วแม่เข้าคลอดจะเป็นพาหะของโรคประมาณ 20-30 เปอร์เซ็นต์ ส่วนระบบการเลี้ยงในปัจจุบันที่เน้นการควบคุมโรค ทำให้ลูกในเล้าคลอดและอนุบาลไม่มีโอกาสได้สัมผัสเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ เมื่อย้ายจากอนุบาลมาลงเลี้ยงขุน ไม่มีภูมิจากแม่ และไม่ได้สร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง เมื่อเกิดการติดเชื้อที่โรงเรือนขุน โดยมีหนูและแมลงสาบเป็นพาหะ หลังจากนั้นเกิดอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว แคระแกรน อาหารไม่ย่อย จึงเป็นโรคสำคัญที่ต้องใช้ยาในการควบคุมป้องกันโรค

        แนวทางในการควบคุมป้องกันโรค เริ่มจากการจัดการสุกรสาวทดแทนที่ถูกต้อง มีการคลุกกับแม่ปลด โดยนำไปเลี้ยงในโรงเรือนเตรียมสุกรสาวทดแทน 2-3 สัปดาห์ ก่อนคัดทิ้งออกจากฟาร์ม เพื่อให้สุกรสาวทดแทนได้สัมผัสเชื้อประจำถิ่นในฟาร์ม โดยมุ่งหวังการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้ออีโคไล พาร์โวไวรัส ไข้หนังแดง และอื่นๆ ยกเว้น โรคพีอาร์อาร์เอส เพราะแม่ปลดไม่ใช่ตัวแพร่เชื้อพีอาร์อาร์เอส เนื่องจากฟาร์มที่นิ่งแม่จะไม่มีเชื้อ การสร้างภูมิคุ้มกันให้กับสุกรทดแทนจึงต้องอาศัยการทำวัคซีน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อลดภาวการณ์ติดเชื้อในกระแสเลือด ไม่ใช่การป้องกันการติดเชื้อ เพราะเมื่อมีภูมิคุ้มกันสูงในระดับหนึ่งหากเกิดการติดเชื้อก็จะพบในระยะสั้น และไม่กระทบต่อสุขภาพและประสิทธิภาพการผลิต

        ขณะที่การให้ยาต้านจุลชีพในปัจจุบัน ควรใช้ในรูปแบบ Metaphylaxis หรือการให้แบบมีแผน ซึ่งต่างจากอดีตที่ให้ระดับการป้องกันหรือการรักษา แต่การให้แบบ Metaphylaxis เป็นการให้แบบป้องกันการติดเชื้อ ลดความรุนแรงของโรค โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงก่อนคลอด คลอดใหม่ และหลังคลอด หรือเรียกว่า 1 สัปดาห์ ก่อนและหลังคลอด เนื่องจากเป็นช่วงที่แม่มีภาวะกดภูมิคุ้มกัน จากความเครียด โดยเฉพาะสุกรสาวท้องแรก และอยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนคอร์ติซอลที่เพิ่มขึ้นในกระแสเลือด ซึ่งตัวอ่อนที่พร้อมคลอดหลั่งออกมา กระตุ้นให้เกิดกระบวนการคลอด เป็นการกดภูมิคุ้มกันอย่างรุ่นแรง ส่งผลให้แม่สุกรมีโอกาสป่วยจากเชื้อที่อยู่ในร่ายกาย เช่น เชื้ออีโคไลและสเตรปโตคอคคัส

        ส่วนลูกสุกรจุดวิกฤต คือ ช่วงหย่านม และอนุบาล เพราะภูมิคุ้มกันที่ได้รับจากแม่ส่วนใหญ่เริ่มลดลง สุกรสัมผัสเชื้อสเตรปโตคอคคัส ฮีโมฟิลัส และมัยโคพาสมาตามธรรมชาติ ซึ่งหลักการสำคัญของการจัดการสุขภาพลูกสุกร คือ ลูกต้องได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่เต็มที่ ในช่วงที่แม่เลี้ยงลูกมีโอกาสได้สัมผัสเชื้อลูกก็จะสร้างภูมิคุ้มกันได้เอง ช่วยลดความรุนแรงจากการติดเชื้อในช่วงอนุบาลได้ ดังนั้น ฟาร์มที่จัดการโรงเรือนคลอดได้ดีก็จะไม่มีปัญหาลูกท้องเสีย ต่างจากฟาร์มที่ลูกท้องเสียในโรงเรือนคลอด เมื่อลงอนุบาลพบความเสียหายมากกว่า 3-4 เปอร์เซ็นต์ แสดงให้เห็นว่า ได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ไม่ดี ต่างจากลูกที่ได้รับนมน้ำเหลืองเต็มที่จะไม่มีปัญหาการป่วย โดยจากการศึกษาวิจัยยืนยันไดว่า นมน้ำเหลืองไม่ได้มีแต่ภูมิคุ้มกันเท่านั้น แต่มีเม็ดเลือดขาวที่จำเพาะต่อโรคต่างๆ มาด้วย จึงมีบทบาทสูงในการป้องกันการติดเชื้อของลูกแรกเกิด ซึ่งเม็ดเลือดขาวจำเพาะเหล่านี้ลูกต้องได้รับจากแม่ตัวเองเท่านั้น ถ้าไม่ใช่เม็ดเลือดขาวจำเพาะนี้จะดูดซึมเข้าสู่ร่างกายไม่ได้

        สำหรับ Metaphylaxis เป็นการให้ยาในช่วงการติดเชื้อ ซึ่งจากการเก็บข้อมูลส่งตัวอย่างตรวจทางห้องปฏิบัติการ ทำให้ทราบว่าสุกรอนุบาลส่วนใหญ่ติดเชื้อพีอาร์อาร์เอสที่อายุ 5-6 สัปดาห์ ช่วงอนุบาลถึงขุนเป็นช่วงอีกช่วงที่ติดเชื้อพีอาร์อาร์เอสซ้ำ และเป็นช่วงที่มีการติดเชื้อเซอร์โคไวรัส ซึ่งในช่วงที่ติดพีอาร์อาร์เอสและเซอร์โคไวรัสหากควบคุมปัจจัยร่วมต่างๆ ไม่ได้ เกิดภาวการณ์ติดเชื้อในกระแสเลือดรุนแรง ก็จะเกิดภาวะแทรกซ้อนและเกิดความเสียหายอย่างรุนแรงได้ทันที โดยเฉพาะเซอร์โคไวรัส ที่ทำลายเนื้อเยื่อน้ำเหลืองและก่อให้เกิดปัญหาพีซีเอดี ดังนั้น การใช้ยาปฏิชีวะในการจัดการสุขภาพสุกร จึงต้องพิจารณากระบวนการติดเชื้อของฟาร์มแล้วใช้ยาในดังกล่าว เพื่อควบคุมปัจจัยร่วมไม่ให้เกิดความเสียหายจากโรงพีอาร์อาร์เอสและเซอร์โคไวรัส โดยขนาดยาที่ให้เป็นระดับเดียวกับการรักษา ส่วนระยะเวลาที่ให้ขึ้นอยู่กับมาตรฐานการจัดการและความรุนแรงของโรค จังหวะการติดเชื้อพีอาร์อาร์เอสและเซอร์โคไวรัสของแต่ละฟาร์มที่อาจแตกต่างกันตามระบบการเลี้ยง ดังนั้น การใช้ยาในช่วงอนุบาล เน้นการป้องกันช่วงติดเชื้อพีอาร์อาร์เอสและเซอร์โคไวรัส ช่วงเล็กรุ่นเน้นการป้องกันการติดเชื้อทั้ง 2 ร่วมกัน

        จากการศึกษาวิจัยพบว่า ภูมิคุ้มกันโรคพีอาร์อาร์เอสจากแม่จะหมดที่ 4-5 สัปดาห์ ลูกสามารถติดเชื้อได้ทันที จึงเป็นช่วงที่ป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งในฟาร์มมักใช้ยาเพื่อควบคุมการติดเชื้อตั้งแต่อายุ 5 สัปดาห์ไปถึง 10-11 สัปดาห์ ยกตัวอย่างการทำวัคซีนป้องกันโรคพีอาร์อาร์เอส ทำวัคซีนเป็นในลูกสุกร 2 สัปดาห์ และมัยโคพาสมากับเซอร์โคไวรัสที่ 3 สัปดาห์ ถือเป็นโปรแกรมพื้นฐานในการป้องกันปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจซ้ำซ้อนและเซอร์โคไวรัส ส่วนโปรแกรมยาก็ให้ในลักษณะ Metaphylaxis โดยการใช้ไทอะมูลิน หรือไทโลซิน ในช่วง 100-200 ppm สุกรอนุบาล 150 ppm เพื่อควบคุมเชื้อลาโซเนียและมัยโคพาสมา แม้ทำวัคซีนในลูกที่ 3 สัปดาห์ แต่แม่สุกรก็เป็นพาหะของเชื้อนี้ได้ ลูกสุกรสัมผัสเชื้อตั้งแต่แรกเกิดแต่ไม่สร้างปัญหาเพราะได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ เมื่อภูมิจากแม่เริ่มหมดก็จะมีปัญหา โดยมีการศึกษาพบว่า ฟาร์มที่จัดการโรงเรือนคลอดได้ดี แทบจะไม่พบการติดมัยโคพาสมาที่ 3 สัปดาห์เลย ต่างจากฟาร์มที่จัดการไม่ดี มีปัญหามัยโคพาสมาสูง โดยเฉพาะลูกสุกรท้องแรก เพราะสุกรสาวเพิ่งติดเชื้อไม่นานต่างจากแม่นางที่มีภูมิคุ้มกันสูง ประกอบกับปัญหาแม่นมแห้ง ลูกไม่ได้รับภูมิคุ้มกันจากแม่ ลูกก็ติดเชื้อ ดังนั้น จึงมีการแนะนำให้แยกเลี้ยงลูกสุกรสาวท้องแรกกับลูกสุกรนาง เพื่อป้องกันความเสียหาย ส่วนยาแอมมอกซีซิลิน เป็นยาที่ออกฤทธิ์กว้าง ใช้ในอาหาร เพื่อควบคุมเชื้อสเตรปโตคอคคัส และฮีโมฟิลัส แต่การจัดการป้องกันเชื้อทั้ง 2 ต้องเน้นการให้ลูกสัมผัสเชื้อจากแม่ในโรงเรือนคลอด ในตอนที่ภูมิคุ้มกันจากแม่สูงแล้วกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นเอง แต่กระบวนการนี้จะไม่เกิดหากลูกได้รับยาปฏิชีวนะแบบฉีดมากเกินไป ทำให้ลูกไม่ได้สัมผัสเชื้อในขณะที่มีภูมิคุ้มกันจากแม่ เมื่อภูมิจากแม่หมดติดเชื้อก็จะเกิดอาการชักในโรงเรือนอนุบาล ในช่วงสุกรเล็ก มักพบการติดเชื้อเซอร์โคไวรัสต้องควบคุมในช่วงนี้ให้ดี และบางฟาร์มอาจพบโรคเอพีพีก็ต้องเลือกใช้ยา โดยแอมมอกซีซิลิน และไทอะมูลินเป็นยาที่ใช้ร่วมกันในการควบคุมเชื้อมัยโคพาสมาลาโซเนีย สเตรปโตคอคคัส และพาสเจอเรลลา ส่วนซิงค์ออกไซด์ก็เป็นทางเลือกหนึ่งในการควบคุมเชื้ออีโคไล ขณะที่ยาทิลมิโคซินถือเป็นยาที่ออกฤทธิ์กว้าง ใช้ในระดับ 200-400 ppm ได้ผลดีต่อการควบคุมเชื้อแบคทีเรียหลายชนิด

        การใช้ยาแบบ Metaphylaxis มีการใช้ในช่วงที่ควบคุมโรคอีไลติส ต่อมาก็ใช้ในการควบคุมโรคพีอาร์อาร์เอสและเซอร์โคไวรัส โดยมีลักษณะการให้ไปสิ้นสุดที่สุกรรุ่น แต่ไม่ใช้ในสุกรขุน เพราะหากจัดการสุขภาพถูกต้อง ลูกได้รับภูมิคุ้มกันที่ดี มีโปรแกรมวัคซีน และให้ยาตัดวงจรการติดเชื้อที่ถูกต้อง ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ในสุกรขุน ส่วนการให้แบบต่อเนื่องหรือให้เป็นช่วงนั้นขึ้นอยู่กับสภาพการเลี้ยงและการจัดการสุขภาพที่ดี การกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการจัดการ หากโรงเรือนร้อน สุกรกินอาหารไม่เต็มที่อาหารและน้ำปนเปื้อน ฟาร์มเหล่านี้ก็อาจต้องใช้ยาต่อเนื่องต่างจากฟาร์มที่จัดการได้ดีจะให้ยาเป็นช่วงๆ ส่วนใหญ่ประมาณ 2-3 สัปดาห์ในช่วงที่มีการติดเชื้อพีอาร์อาร์เอสเท่านั้น และมีระยะหยุดยาตามกำหนด ดังนั้น การใช้ยาต้านจุลชีพมีความจำเป็นในการป้องกันโรคพีอาร์อาร์เอสและเซอร์โคไวรัส โดยให้แบบ Metaphylaxis เท่านั้น ยกเว้น ในกรณีที่มีการติดเชื้อรุนแรง สุกรกินอาหารไม่เต็มที่ การใช้ยาในอาหารอาจไม่เพียงพอ ต้องใช้ยาฉีดร่วมด้วย แต่อย่างไรก็ดี ฟาร์มที่จัดการสุขภาพดี การใช้ยาจะต่ำประสิทธิภาพการผลิตในฟาร์มดี ได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่า

 

ที่มา :  สัตว์เศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 777 ปักษ์หลังพฤษภาคม 2559 (หน้า 16-19)




Close-คลิ๊กที่นี่เพื่อปิดหน้านี้ครับ