:: เนื้อหา ข้อมูล-ข่าวสาร-บทความ::

ข่าวประชาสัมพันธ์ >> 10 ข้อได้เปรียบของไทย​ ต่อการรับมือและป้องกัน ASF
29 พ.ค. 2562 08:51:16





ข่าว (News) สุกร (Pig)

10 ข้อได้เปรียบของไทย​ ต่อการรับมือและป้องกัน ASF – ปศุศาสตร์ นิวส์

แม้ว่าประเทศไทยจะยังไม่มีรายงานโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร​ (ASF) แต่ทุกคนคงไม่อยากให้โรคนี้เกิดขึ้นในบ้าน​เรา จึงได้มีการตื่นตัวและตื่นกลัวกันอย่างมาก​ เนื่องจากเป็นมหันตภัยร้ายแรงที่สุดที่เกิดในวงการผลิตสุกร​ เพื่อให้เห็นสถานการณ์การเตรียมการรับมือโรค ASF ของประเทศไทย​ที่มีข้อได้เปรียบและความพร้อมทั้ง 10 ด้าน​ ว่า​ เราจะมีความแข็งแกร่งพอหรือไม่ ที่จะต้านโรคนี้ที่กำลังระบาดอยู่ในขณะนี้ในประเทศเพื่อนบ้านของเรา

1. ข้อได้เปรียบด้านตำแหน่งที่ตั้ง​ (Location) ประเทศไทยไม่มีพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศจีนและเวียดนามโดยตรง​ ทำให้การติดโรค ASF ข้ามแนวชายแดนต้องผ่านประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่​ ประเทศพม่าทางด้านทิศเหนือ​ ประเทศลาวทางอีสาน​ ประเทศกัมพูชาทางด้านตะวันออก เป็น Buffer zone ทำให้ไทยมีระยะเวลาตั้งรับมือได้นานกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

2. ข้อได้เปรียบด้านสภาพอากาศ​ (Weather)​ ประเทศไทยเป็นพื้นที่เขตร้อน​ อากาศร้อนเกือบตลอดทั้งปี​ ​ ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่อำนวยต่อการมีชีวิตรอดของเชื้อไวรัส​ (แต่ก็ต้องระวังช่วงหน้าฝน) และไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเหมือนกับจีนที่บางเดือนอุณหภูมิหนาวจัดถึงติดลบ​ การอาบน้ำเข้าฟาร์มและการฆ่าเชื้อรถขนส่งทำได้ลำบาก เนื่องจากมีหิมะและน้ำกลายเป็นน้ำแข็ง

3. ความพร้อมด้านระบบการผลิตสุกร​ (Pig production system) ประเทศไทยการเลี้ยงสุกรในระดับอุตสาหกรรมมีระบบการผลิตสุกรที่ได้มาตรฐาน​ ทั้งการจัดการฟาร์ม​ แบบโรงเรือน​ สายพันธุ์สุกร​ที่ส่วนใหญ่ผลิต​ในประเทศ ที่พร้อมจะพัฒนาให้ทันต่อความสูญเสียที่เกิดขึ้นจากโรคระบาดในอนาคต

4. ความพร้อมด้านข้อมูลและการสื่อสาร (Information and​ Communication) ตั้งแต่ประเทศจีนเกิดโรค​ ประเทศไทยมีความตื่นตัวต่อการป้องกันโรคมากที่สุด เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ​ มีสื่อต่างๆ ทั้งกรมปศุสัตว์ สมาคมฯ มหาวิทยาลัย​ และเอกชน​ ให้เลือกติดตามกันได้อย่างหลากหลาย​ และส่วนใหญ่มีแนวทางที่คล้ายๆ กัน​ สามารถเข้าถึงได้หลายช่องทาง​ เช่น​ สื่อทางอินเตอร์​เน็ต โซเชียล โปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ตามสนามบิน​ สำนักงาน ฟาร์ม การจัดงานสัมมนาให้ความรู้เรื่อง ASF​ การอบรมพนักงานฟาร์ม​ โรงฆ่าสัตว์และเกษตรกร ทุกบริษัท​และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจัดอบรมอย่างต่อเนื่อง​

5. ความพร้อมด้านนักวิชาการและสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร​ (Veterinary​ science​ &​Service)ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัย​ คณะอาจารย์​ และสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์ม​ ทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนเพียงพอต่อความต้องการ​ ทำให้การเตรียมความพร้อมระดับฟาร์มไม่น่าจะมีปัญหา​

6. ความพร้อมด้านห้องปฏิบัติการ (Laboratory service)​ ประเทศไทยมีห้องปฏิบัติการตรวจโรคครบทุกภูมิภาค​ ทั้งภาครัฐ​ มหาวิทยาลัย​ และบริษัทเอกชน​ จึงไม่น่ามีปัญหาต่อการทดสอบเชื้อเพื่อวางแผนจัดการ

7. ความพร้อมด้านนโยบายภาครัฐ (Government policy) นโยบายของภาครัฐออกประกาศครอบคลุมทั้งรายเล็กและรายใหญ่​ เช่น​ การอนุมัติงบประมาณ​ 148 ล้านบาท ​ในการควบคุมโรค ASF​ จากคณะรัฐมนตรี การประกาศห้ามนำเข้าเนื้อสัตว์จากประเทศที่เกิดโรคระบาด​จากกรมปศุสัตว์ เป็นต้น

8. ความพร้อมด้านการผลิตเนื้อสุกรในประเทศ (Pork production) ประเทศไทยผลิตสุกรได้เพียงพอต่อความต้องการภายในประเทศ​ ​(อาจจะเกินในบางเขต)​ ทำให้สามารถตอบสนองนโยบายด้านการงดนำเข้าส่งออกเนื้อสุกรไปยังประเทศที่มีการระบาดทำได้ดี​ ซึ่งเป็นจุดเสี่ยงที่สำคัญที่สุดในการป้องกันโรค ASF เข้าประเทศ​ (ถ้าประเทศไทยไม่เกิดโรค​ จุดเสี่ยงสำคัญจะเป็นในด้านการส่งออก)​ รวมถึงโรงชำแหละทางกรมปศุสัตว์ก็ได้ออกมาตรการเฝ้าระวังและควบคุมโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกรที่พร้อมจะนำไปปฏิบัติให้ได้มาตรฐาน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคกรณีที่ประเทศไทยเกิดโรคระบาด

9. ความพร้อมด้านการป้องกันโรคเข้าประเทศ​ (International Bio security) ประเทศไทย​มีการรวมกลุ่มจัดสร้างและจัดสรรงบประมาณในการป้องกันโรคเข้าประเทศ​ เช่น​ จุดล้างรถ​ พ่นยาฆ่าเชื้อรถ​ และจุดตรวจสัมภาระ​ ตามด่านชายแดนต่างๆ​ และสนามบิน​ ซึ่งตอนนี้ก็ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปแล้วบางส่วน​ แต่เชื่อว่าน่าจะสมบูรณ์ 100% ในเร็วๆนี้​ และสิ่งที่จะต้องเตรียมแผนต่อไปคือการบริหารจัดการให้สามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตลอด 24 ชั่วโมง

10. ความพร้อมด้านการป้องกันโรคระดับฟาร์ม (Pig farm biosecurity) ฟาร์มขนาดใหญ่ระดับบริษัทมีมาตรฐานระบบป้องกันโรคที่ดี และก็เพิ่มระดับความเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม 2-3 เท่าในปัจจุบัน​ จึงไม่น่ามีปัญหาสำหรับการป้องกันโรค ASF ส่วนฟาร์มขนาดเล็กก็คงต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด​ เช่น​ งดใช้เศษอาหารนำมาเลี้ยงสุกรช่วงที่มีการระบาดของโรค​ เป็นต้น​ และในอนาคตเชื่อว่า​ ราคาเนื้อสุกรจะสูงขึ้นเรื่อยๆ​ ทำให้เกษตรกรมีความพร้อมในการลงทุนด้านระบบป้องกันโรคมากขึ้น​ โอกาสที่ไทยจะรอดพ้นจากโรค ASF ก็ยิ่งจะมีมากขึ้นตามไปด้วย

จากข้อได้เปรียบและความพร้อมทั้งหมดนี้​ ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าประเทศไทยจะยื้อเวลาการเกิดโรค ASF ได้นานกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค “ปีหมู​จะไม่เป็นหมูเน่าสำหรับเกษตรกรไทย​ ถ้าทุกคนร่วมแรงร่วมใจกัน”

ขอบคุณที่มา : Adisak.s / CPF Swine Veterinary​ Service




Close-คลิ๊กที่นี่เพื่อปิดหน้านี้ครับ