ข่าวสาร ความรู้/การเลี้ยงสุกร >> ข้อจำกัดของการผสมจริง 29 พ.ค. 2563 09:03:44 |
“ ข้อจำกัดของการผสมจริง” ทั้งการผสมจริงและการผสมเทียม ต่างมีข้อจำกัดแตกต่างกันออกไป บทความนี้ผมจะขอไม่เอยถึงว่าใครดีกว่าใคร เพราะผมก็เข้าใจข้อจำกัดของเกษตรกรแต่ละคนที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น สิ่งที่ผมจะเขียนก็อยากให้ข้อมูลเรื่องข้อจำกัดต่างๆ ส่วนเรื่องการปรับใช้ หรือ เฝ้าระวัง ป้องกัน ต่างๆที่ได้จากการอ่านบทความนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยครับ ข้อดีของการผสมจริง : ต้องยอมรับว่าผสมจริงนั้นได้เปรียบเรื่อง อารมณ์ร่วมค่อนข้างมาก ได้รับแรงขับเคลื่อน แรงกระตุ้น และอารมณ์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย เช่น เราจะได้เห็นคำว่า หมูนิ่ง จริงๆ เพราะถ้าไม่นิ่งก็คงไม่ยอมให้พ่อขึ้นขี่เป็นนานสองนาน จะได้เห็นการเล้าโลมของพ่อหมูที่มีต่อแม่หมู อย่างซาดิส หรือ แบบประเล้าประโลม ก็สุดแท้แต่นิสัยพ่อพันธุ์ เหตุผลเหล่านี้แหละที่ทำให้การผสมจริงฟินกว่าการผสมเทียม นอกจากนี้ เวลาที่พ่อสุกรผสมพันธุ์จะปล่อยน้ำเชื้อในปริมาณที่มากถึง 200-500 มล. ปล่อยอสุจิประมาณ 60,000 ล้านตัว เข้าสู่ระบบสืบพันธุ์ แถมด้วยเมื่อปล่อยน้ำเชื้อเสร็จจะผลิตเม็ดสาคู มาปิดบริเวณคอมดลูก เพื่อป้องกันการไหลย้อนกลับ เรียกว่าทำงานกันเป็นทีมเลยทีเดียว ข้อได้เปรียบที่ผมกล่าวมาทั้งหมดนี้ เป็นเหตุให้การผสมติด จำนวนลูก ค่อนไปในทางทีดี และหลายคนก็ใช้วิธีการนี้กันอยู่……. แต่…. ทุกอย่างก็ไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบ เราลองมาฟังข้อจำกัดกันดูสักหน่อยครับ ข้อจำกัดการผสมจริง “ เราจะแน่ใจได้อย่างไร” 1. โรค : การที่พ่อสุกรเที่ยวตะเวนออกไปผสมในหลายๆที่ จิ้มตัวนั้นตัวนี้ มีความเสี่ยงมากครับต่อการเอาโรคที่อื่นมาเป็นของฝากให้กับหมูเรา โดยเฉพาะโรคทางระบบสืบพันธุ์ แท้ง หนอง และอื่นๆ 2. ปริมาตร ความเข้มข้นอสุจิ : ประเด็นนี้คงขึ้นอยู่กับความถี่ในการใช้งาน ซึ่งหากคนรับจ้างผสมพาไปใช้งานบ่อย ระยะพักอย่างน้อยควรมี 2 -3 วัน เพื่อให้ได้มีการสร้างอสุจิที่แข็งแรง เข้มข้น ที่มากขึ้นก็จะเป็นผลดีกับฝ่ายแม่หมู แต่หากมีการปล่อยน้ำเชื้อ วันเว้นวัน หรือ ใช้งานบ่อย แน่นอนครับว่า ปริมาตร ความเข้มข้น ลดลงแน่นอน ถึงแม้ว่าอาจจะมีคนอยากจะเถียงผมว่า ใช้ได้ผมลองแล้ว ติดลูกดก จริงครับ แต่โอกาสแบบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยแน่นอนครับ ลองเก็บข้อมูลดูครับว่ามีกี่เปอร์เซ็นต์ 3. อสุจิมีชีวิตจริงหรือ ? ไม่ใช่เรื่องแปลกครับ อสุจิที่ออกมาจากพ่อสุกรโดยตรงไม่ใช่จะมีชีวิตกันตลอด ฟาร์มที่มีการรีดน้ำเชื้อและตรวจคุณภาพตลอด จะเข้าใจดีว่าบางตัวที่รีดมาได้นั้นบางครั้งตายหมด อ่อนแอ พิการ ผิดปกติจนต้องเททิ้งมาก็เยอะ แต่ผสมจริงเราไม่สามารถทราบได้เลย นอกจากจะรีดมาตรวจก่อน 4. การบาดเจ็บ เชื่อว่าหลายคนคงจะได้รับความเสียหายอยู่บ้าง แม่ขาเจ็บ ขาหัก ข้อจำกัดตรงนี้แหละครับที่อาจจะทำให้เราอาจจะต้องเสียแม่พันธุ์ได้ ดังนั้น ลองดูขนาดให้เท่ากันนะครับว่า พอรับได้ไหม ถ้าไม่ไหวก็อย่าฝืนครับ ที่ผมเขียนมานี้ไม่ได้มีเจตนาในการให้ร้ายการผสมจริงนะครับ เพียงแต่อยากเสนอถึงข้อจำกัดจะได้หาทางแก้ไขล่วงหน้าว่าหากจะอยู่กับการผสมจริงควรทำอย่างไร กำชับตรงไหน บางครั้ง เราอ่านเกมกันผิดไปเยอะ จากปัญหาการผสมไม่ติด เป็นหนอง แล้วมาโยนความผิดให้กับแม่พันธุ์ คัดทิ้งบ้าง ขาย เชือด บ้าง แต่เราไม่เคยมองให้รอบด้านว่า มันจะต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง ต้นเหตุที่มา อยู่ตรงไหน พ่อ น้ำเชื้อ แม่ วิธีการ ความสะอาด ไหม ? ผมเชื่อว่าการหาข้อมูล วิเคราะห์จะทำให้เราตัดสินใจได้อย่างแม่นยำขึ้น บทความโดย อ เก่ง สืบพันธุ์ https://www.facebook.com/profile.php?id=100051025607695 |