:: เนื้อหา ข้อมูล-ข่าวสาร-บทความ::

ข่าวสาร ความรู้/การเลี้ยงสุกร >> วิเคราะห์อดีต ปัจจุบัน อนาคต หมูกับการเลี้ยงหมู
24 ธ.ค. 2563 16:41:36



วิเคราะห์อดีต ปัจจุบัน อนาคต หมูกับการเลี้ยงหมู โดย ศิริสมานฟาร์ม จ.สุโขทัย 




หมูกับการเลี้ยงหมู 

วันนี้ราคาหมูขยับตัวสูงทำให้คนเลี้ยงหมูมีกำไร ผู้เลี้ยงรายย่อยที่เรียกว่าชาวบ้าน หันมาเลี้ยงหมูกันมากขึ้นหลังจากหายไปจากวงการหลายปี เพราขาดทุนกับราคาที่ตกต่ำ ต้นทุนสูงในช่วงสองปีที่ผ่านมา ที่ผ่านมาคนเลี้ยงรายย่อยมือสมัครเล่นเห็นคนข้างเคียงเลี้ยงแล้วมีกำไร เลยหันมาเลี้ยงตามอย่าง พอราคาหมูตกขาดทุนก็เข็ดหลาบหยุดเลี้ยง บางรายถึงกับทุบเล้าเลี้ยงหมูสาปส่งกับการเลี้ยงเลยทีเดียว ผู้เลี้ยงรายย่อยหายไปสองปี บัดนี้เริ่มกลับมาใหม่ บางรายก็เป็นคนเลี้ยงหน้าเดิมที่ไม่เลิกเลี้ยงพยายามประคองตัวรอดมาจนถึงทุกวันนี้ ผมเห็นด้วยกับผู้เลี้ยงรายย่อย รายอิสระที่อยากมีอาชีพเป็นของตนเอง และหมูก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ยังสามารถเป็นอาชีพอิสระ ขนาดเล็กในวงการปศุสัตว์ได้

ในที่นี้ผู้เลี้ยงรายย่อยหมายถึงผู้เลี้ยงที่เลี้ยงหมูขุนตั้งแต่10ตัวไปจนถึง100ตัว หรือเลี้ยงแม่หมู1ตัวไปจนถึง 10-20 ตัว กลุ่มผู้เลี้ยงเหล่านี้ก็คือชาวบ้าน ชาวนา ชาวไร่ธรรมดาที่รักอาชีพปศุสัตว์ อยากมีอาชีพที่เลี้ยงครอบครัวไม่ถึงกับร่ำรวยสามารถอยู่ได้ในสังคม บางราย บอกว่าการเลี้ยงของเขาเป็นการเลี้ยงแบบออมสิน คล้ายกับหมูออมสินของลูก เพราะต้องสร้างวินัยให้กับตัวเองด้วยการซื้ออาหารเลี้ยงหมู มีเงินก้อนเมื่อขายหมูออกไปใช้ในยามฉุกเฉินได้ และสร้างวินัยในการรู้จักเก็บออมได้อีกทางหนึ่ง แม้กำไรไม่มากแต่ก็ภูมิใจที่มีทรัพย์สินมีเงินไว้ในยามเดือดร้อนจำเป็น มีแนวคิดหรือวีธีการอย่างไร ที่ทำให้คนเลี้ยงรายย่อยอยู่อย่างยั่งยืนเป็นอาชีพที่มั่นคงต่อไป จากประสบการณ์ที่ผู้เขียนเป็นผู้เลี้ยงในวงการหมูมานานนับสิบปี จึงขอเสนอแนวทางแนวคิดไว้ดังนี้ คนเลี้ยงต้องรู้ซึ้งธรรมชาติของการเลี้ยงหมูในประเทศไทยและจำต้อง จดจำกฎเกณฑ์การเลี้ยงหมูให้ขึ้นใจ ดังนี้

1. ราคาหมูในประเทศไทยมีขึ้นมีลง มีราคาสูงและต้องมีราคาต่ำ ทั้งในรอบปีและรอบหลายปี ในหนึ่งปีราคาหมูไม่เคยนิ่งอยู่กับที่ สูงต่ำได้ห่างกันได้มากกว่า 10 บาท ไม่มีใครสามารถวางกฎควบคุมราคาหมูให้มั่นคงอยู่กับที่ได้ ในรอบ1ปีราคาสูงสุดจะอยู่ช่วงเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายนและจะเริ่มอ่อนตัวลงเรื่อยๆจนต่ำสุดเดือนตุลาคม(หลังกินเจ)จากนั้นราคาเริ่มมั่นคงค่อยขยับขึ้นเล็กน้อยไปเรื่อยๆจนถึงปีใหม่ แต่ในแต่ละปีราคาที่ว่าคาดเดาไม่ได้ แต่ก็ถือว่าเป็นแนวทางให้ผู้เลี้ยงรายย่อยได้ว่างแผนการผลิต ในรอบหลายช่วงปีราคาก็แตกต่างกัน บ้างก็ว่าทุกสามปีจะมีราคาตกต่ำสุด เพื่อให้ขาดทุนเลิกเลี้ยงกันไปข้างหนึ่ง และราคาขึ้นอีกครั้งหนึ่ง คนที่เหลือรอดจะไม่กำไรสูงอีกครั้งหนึ่ง

ทำไมราคาจึงขึ้นลง มีสองสาเหตุ สาเหตุที่หนึ่ง คือการบริโภคการกินใช้หมูมากหรือน้อย เช่น ช่วงเทศกาลลอยกระทง ปีใหม่ ตรุษจีน มีการท่องเที่ยวทำให้มีการกินหมูเพิ่ม ผู้เลี้ยงหลายๆคนที่พากันขยับราคาหมูตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น อีกสาเหตุหนึ่งคือ ปริมาณหมูที่เลี้ยงมีมาก หรือน้อย ถ้าคนเลี้ยงขาดทุนติดต่อยาวนาน การเลี้ยงหมูลดน้อยลง เนื่องจากบางฟาร์มลดกำลังการผลิต เช่นลดจำนวนแม่หมูลง ปริมาณลูกที่นำไปเลี้ยงขุนลดลงเช่นกัน แต่ถ้าหมูกำไรต่อเนื่องจูงใจให้มีการเลี้ยงหมูมากขึ้น ของมากการเสนอขายต้องถูกลง ก็ทำให้ราคาลดลง ถึงขาดทุนได้ ถ้ามีสัญญาณว่ามี การเพิ่มแม่หมูในฟาร์ม มีการขยายฟาร์ม ผู้เลี้ยงรายย่อยเพิ่มการเลี้ยง มีแนวโน้มว่าอีกปีสองปี ราคาน่าจะตกต่ำอีกครั้ง 



2. การเลี้ยงหมูมีกำไรและมีขาดทุน มีขาดทุนมากเป็นพันสองพันตัวก็มี มีกำไรสูงสุดเป็นพันสองพัน ก็มี ไม่แน่นอน มีความเสี่ยง หรือกำไรเล็กๆน้อยๆ ยาวนานก็มี หรืออาจขาดทุนมากมายมหาศาลขั้นหมดเนื้อหมดตัวก็มี ขอยกตัวอย่างปลายปี 2540 หลังจากรัฐบาลประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเดือนกรกฎาคม และมีผลกระทบต่อผู้เลี้ยงสุกรช่วงกินเจเดือนตุลาคม ราคาหมูอ่อนตัวจนเริ่มขาดทุน จนบางพื้นที่ตกไปจนถึง 22-25 บาท ซึ่งต่ำกว่าทุนขณะนั้นประมาณ 37-45 บาท และสภาพคล่องการเงินของคนเลี้ยงระดับฟาร์มลดลงอย่างมาก เนื่องจากราคาวัตถุดิบสูงขึ้นอย่างมาก ขณะเดียวกัน ธนาคารงดปล่อยกู้และเก็บเงินกู้คืน รวมถึงขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงมาก จนไม่สามารถส่งชำระทั้งดอกเบี้ยเงินต้นได้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ออกประกาศราคาสุกรออกเป็นระยะเพื่อพยายามไม่ให้ราคาตกต่ำและราคาเริ่มขยับขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเดือนเมษายน 2541 และเริ่มมั่นคงจนมีกำไรเล็กน้อย

ต่อมาในปี 2542 ราคาสุกรขยับสูงสุดถึง 52-54 ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม เป็นราคาสูงสุดในการเลี้ยงสุกรของประเทศไทยเลยทีเดียวและมีกำไรยาวนานข้ามปี ผู้เลี้ยงที่อยู่รอดผ่านวิกฤตพากันฟื้นคืนชีพ ผู้เลี้ยงทั้งรายย่อย รายเล็ก รายกลาง รายใหญ่ พากันขยายฟาร์มเพิ่มการเลี้ยงหลายเท่าตัว บางคนถึงกับประกาศตัวจะเป็นหนึ่งในผู้เลี้ยงรายใหญ่ของประเทศเลยทีเดียว แระราคาก็อ่อนตัวขึ้นๆลงๆ ในรอบปีมาได้หลายปี จนมามีเหตุการณ์ที่ต้องพูดถึงอีก ครั้งก่อนจะเกิดเหตุการณ์โรคไข้หวัดนกปลายปี 2545 ก่อนหวัดนก วงการสุกรอึมครึม ผลกำไรต่อการเลี้ยงสุกรเฉลี่ยทั้งปีต่อตัวประมาณ 100-200 บาท และยาวนาน2-3ปีทีเดียว คนเลี้ยงที่เป็นผู้ประกอบการรายเล็ก ค่อยลดกำไรการผลิต ตามกำลังของสภาพคล่อง เรียกว่าระยะจำศีลก็ว่าได้ และไม่รู้ว่าอนาคตถ้าเลี้ยงต่อไปจะเป็นเช่นไร

จนเกิดโรคไข้หวัดนกขึ้น ผู้บริโภคหนีการกินไก่ กินไข่ หันมากินหมูอย่างเดียวราคาหมูสูงขึ้นอย่างน่าอัศจรรย์ ราคาขึ้นทีเดียวถึง 53-54 บาท ผู้เลี้ยงสุกรก็ฟื้นคืนชีพได้อานิสงส์กันไปทั่วหน้า มีกำไรชดเชยกับภาวะซึมเซาก่อนไข้หวัดนกช่วงปี 2546-2547 ผู้เลี้ยงหน้าใหม่ หน้าเก่า ก็ขยายเพิ่มการเลี้ยงกันถ้วนหน้า และมีกำไร เพราะกำไรแล้วนำมาขยายฟาร์ม บ้างก็กู้ยืมธนาคารมาลงทุนเพิ่ม คล้ายว่าวงการหมูจะไม่มีวันตกอับอีกแล้ว แม้ในช่วงนั้นจะเกิดโรคระบาดคือ โรคพีอาร์อาร์เอส อย่างหนักก็ตาม แต่ผู้เลี้ยงที่ไม่ได้ผลกระทบเห็นว่าราคาอยู่ในเกณฑ์ค่อนข้างสูงทำตัวเป็นหมูไม่กลัวน้ำร้อน พากันเพิ่มขยายกันยกใหญ่ เรียกว่า ผู้ที่อยู่ในวงการไม่ขยายก็เสียศักดิ์ศรี ไม่อยากเจอหน้าใครกันทีเดียว


ช่วงปี 2549 ลางร้ายก็มาเยือน ราคาหมูส่งสัญญาณอ่อนตัวตั้งแต่มีนาคม สงกรานต์ราคาขยับขึ้นนิดเดียวแล้วค่อยๆลดลง แน่นอนปริมาณหมูออกมาก ต่างคนต่างมีหมู ตกต่ำจนปริ่มทุน หรือบางที่เริ่มขาดทุน เดือนตุลาคมราคาหมูก็ดิ่งต่ำลงสุดน่าจะอยู่ที่ 25 บาท ต้นทุนช่วงนั้นประมาณ 38-42 บาท ขาดทุนหนักจนเดือนเมษายน 2550 ราคาขยับขึ้นเป็นประมาณ 38-43 บาท 6 เดือนกว่า หลังจากนั้น ทุนกับกำไรอยู่ปริ่มๆกันมาตลอด ผู้เลี้ยงบางคนลดกำลังการผลิต เพราะทนสภาพขาดทุนไม่ไหว บ้างเริ่มออกจากวงการอยู่ไปก็เปลืองตัว มีเงินเก็บสักก้อนดีกว่าหมดตัว นี่เป็นคำพูดของผู้เลี้ยงรายเล็กถึงขนาดกลาง รายย่อยแทบไม่ต้องพูดถึงหายไปมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ 

ปี 2551 เป็นอีกปีหนึ่งที่ตกระกำลำบาก แม้ราคาหมูจะขยับเพิ่มมากขึ้นและราคามีแววสูงตลอด เพราะเดือนมกราคม 2551 ราคาสูงถึง 43-45 บาท มีแนวโน้มถึง 50 บาทเดือนเมษายนแน่นอน ราคาก็เป็นไปตามที่คาดการณ์ แต่ภาวะตึงเครียดกลับมาหาผู้เลี้ยงสุกรอีกครั้ง เนื่องจากราคาวัตถุดิบทุกตัวขยับสูงมากตั้งแต่ ปลายข้าว 9-10 บาท ต่อ กก.ขึ้นไปถึง14-15 บาท มันสำปะหลังจาก 4 บาท เป็น 6 บาท กากถั่วเหลืองสูงถึง 20-21 บาท ผู้ที่หมดทุนจากการขาดทุนปีที่ผ่านมาก็ขาดสภาพคล่อง เร่งระบายขายหมูทำให้ราคาตกสวนทางธรรมชาติของราคาแต่ละปี และครั้งนี้เองคนเลี้ยงจำนวนมาก ตัดสินใจเลิกเลี้ยงสุกรอบ่างเด็ดขาดอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้เลี้ยงเก่าแก่ในจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และแหล่งเลี้ยงขนาดใหญ่ของประเทศ ส่วนรายที่เหลือก็พยายามประคองตัวให้รอดหวังว่าอนาคตจะดีมากกว่านี้ 

และในปี 2552 เป็นไปตามที่หลายคนคาดหวัง และเกิดความคาดหวังด้วยซ้ำ เพราะราคากระโดดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2551 สูงสุดๆ ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ราคาสูงถึง 65-66 บาทอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และราคาก็ยังสูงมีกำไรจนวันนี้ “เห็นไหมว่า การเลี้ยงหมูมีทั้งกำไรและขาดทุน ผู้เลี้ยงจึงควรระวังคิดการป้องกันไว้ ถ้าในอนาคตจะเกิดขึ้นอีกและห้ามคาดหวังว่ามันจะดีไปเรื่อยๆ เพราะได้ยินข่าวว่า พวกหมูไม่กลัวน้ำร้อนกำลังกลับมาอีก มีเซียนในวงการหมูบอกว่าอย่างนี้อีกปีสองปีตัวใครตัวท่าน” 



3. ความเสี่ยงเรื่องโรค การเลี้ยงในปัจจุบันมีปัญหาเรื่องกวนใจ กวนตัว และกวนเงินคนเลี้ยงอยู่เรื่อย บางคนลงทุนกับการป้องกันโรคมากมายมหาศาล เพราะคิดเหมือนกันทุกคนว่า ถ้าไม่มีเรื่องโรคมากวนการเลี้ยง คงอยู่ในอาชีพนี้ได้อีกนาน แล้วโรคที่เป็นกันอยู่มีอะไรบ้าง ผู้เขียนขอยกมาเป็นบทเรียนละกัน
โรคที่เกิดเชื้อแบคทีเรียประจำฟาร์ม เช่น โรคท้องเสียจากเชื้ออีโคไล โรคชักตาย โรคผิวหนังเป็นปื้นแดง โรคเหล่านี้หากใช้ยาปฏิชีวนะ อาจลดความเสียหายได้ ถ้ามีการจัดการที่ดี เช่นเรื่องความสะอาด การป้องกันสภาพอากาศแปรปรวน การดูแลเอาใจใส่เรื่องการกินอาหารของหมู ก็สามารถลดปัญหาเหล่านี้ได้ระดับหนึ่ง

โรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส มีหลายโรค และที่นักวิชาการบอกต้องทำวัคซีน บางโรคผู้เลี้ยงหน้าใหม่อาจไม่เคยพบเคยเห็น ขอภาวนาอย่าไปเห็นมันเลย เช่น อหิวาต์สุกร พิษสุนัขบ้าเทียม ปากเท้าเปื่อย โรคที่กล่าวมานี้ถ้าเป็นแล้วความเสียหายถือเป็นหายนะ ต้องทำวัคซีนป้องกัน อย่าไปคิดว่าเลี้ยงมานานแล้ว ไม่มีแล้ว มันหายไปหมดแล้ว เพราะขนาดกลางๆเขาเจอมาแล้ว ดูไม่จืดทีเดียว โรคเหล่านี้เป็นแล้ว ต่อให้มีวัคซีนดีขนาดไหน กว่าจะกลับเป็นปกติใช้เวลาเป็นปี ถ้าขาดทุน กว่าจะได้ทุนคืนก็อีกปีสองปี (ถ้าไม่เจอภาวะราคาตกต่ำ) อีกพวกหนึ่งเป็นโรคทันสมัยที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น โรคพีอาร์อาร์เอส โรคเซอร์โคไวรัส โรคพีอีดี โรคพวกนี้เพิ่งจะเกิดในประเทศไทยไม่ถึงสิบปี ความเสียหายรุนแรงเช่นเดียวกัน ผู้เลี้ยงรายย่อยอาจจะยังไม่พบเจอ ปัจจุบันมีการใช้วัคซีนช่วยป้องกันโรค ยกเว้น โรคพีอีดี ที่ยังไม่พบคำตอบ และขณะนี้บางฟาร์ม ยังเสียหายกับโรคที่กล่าวมาอยู่เลย

โรคที่เกิดจากวัตถุดิบที่ใช้เป็นอาหารหมู ปัญหาคือสารพิษ จากเชื้อราในอาหารที่นำมาเลี้ยงหมู ส่งผลให้หมูป่วยเป็นระยะ เป็นปัจจัยหนึ่งที่สร้างความเสียหาย แอบแฝงในฟาร์มได้ตลอดการระมัดระวังทำได้ค่อนข้างยาก สำหรับผู้เลี้ยงรายย่อย การเลือกวัตถุดิบนำมาผสมอาหารต้องใหม่ สด สะอาด ไม่เก่าและต้องไม่มีเชื้อรา แนวทางที่ลดความเสี่ยงจากโรคคือ การทำวัคซีนป้องกันโรคไวรัส การจัดการที่ดี ความสะอาด หลีกเลี่ยงการนำหมูจากที่อื่นๆเข้าเลี้ยงในฟาร์มหรือนำเข้าจากฟาร์มที่เชื่อถือได้ จะช่วยลดปัญหาโรคจากเชื้อไวรัสได้ทางหนึ่ง 


4.การได้เปรียบเสียเปรียบจากการแข่งขัน เป็นเรื่องธรรมชาติของระบบทุนนิยม ต่างฝ่ายต่างต้องแข่งขันผู้ใดอ่อนแอกว่าก็หายไป เปิดทางให้ผู้แข็งแรงกว่าเข้าแข่งขัน ในวงการ ไม่ใช่วงการเลี้ยงหมูอย่างเดียว ผู้เลี้ยงรายย่อยจำเป็นต้องเข้าใจเรื่องนี้ให้มาก เพื่อจะหาทางหนีทีไล่ให้ดี ผู้เลี้ยงรายย่อยจะเสียเปรียบผู้เลี้ยงรายใหญ่หลายเรื่อง ทั้งการขายหมูให้กับพ่อค้าท้องถิ่น จะถูกกดราคาให้ต่ำกว่าฟาร์มขนาดใหญ่ในภาวะปกติ แหล่งเงินทุนในยามที่ราคาตกต่ำเพื่อประคองกิจการให้รอด การเข้าถึงแหล่งความรู้ความเข้าใจในการเลี้ยงสุกร ผู้เลี้ยงรายย่อยเสียเปรียบมากในเรื่องเหล่านี้ แต่สิ่งเหล่านี้สามารถเรียนรู้กันได้ การเลือกการเลี้ยงหมูมีวิธีการเลี้ยงที่หลากหลาย เช่น ทางเลือกในการเลี้ยงหมูหลุม การเลี้ยงแบบใช้เศษอาหารในชุมชน การใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นเพื่อเป็นอาหารหมู การหาทางเลือกที่เป็นเอกลักษณ์เพื่อลดต้นทุนช่วยให้อยู่รอด และเป็นอาชีพที่ยั่งยืนได้

5.มลภาวะจากการเลี้ยงหมู แน่นอนการเลี้ยงหมูจะประสบปัญหาของเหลือจากการเลี้ยง เป็นมลภาวะที่คนไม่เลี้ยงเขาไม่ชอบ คือ ขี้หมู กลิ่น น้ำเสีย แมลงวัน ถ้าผู้เลี้ยงคิดที่จะเลี้ยงหมูแต่ไม่ได้วางแผน วางระบบการจัดการปัญหานี้ เพื่อนบ้าน ชาวบ้านข้างเคียงเดือดร้อนแน่นอน เกิดปัญหาการร้องเรียน จากมิตรก็เป็นศัตรู ไม่มีใครชอบหน้า บางครั้งทนฝืนเลี้ยงเพราะลงทุนไปแล้ว มองหน้าคนข้างเคียงไม่ติด คิดจะเลิก ทุนที่ลงไปแล้วทำอย่างไร? บางแห่งจำต้องรักษาน้ำใจ เพื่อนบ้านที่ถูกบ่นให้ได้ยินก็ใจเสียท้อถอย ถ้าเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงไปกว่านี้ ยิ่งยากที่จะเลี้ยงบนที่เดิมได้ ฉะนั้นผู้เลี้ยงต้องหาทำเลการเลี้ยงหมู การเอาของเหลือไปกำจัด หรือใช้ให้เกิดประโยชน์ให้มาก ไม่ให้เกิดมลภาวะ กำลังใจการเลี้ยงดีขึ้น ไม่ต้องกังวลปัญหาแวดล้อม ข้อนี้เป็นปัจจัยหนึ่งของจุดอ่อนการเลี้ยงหมู



เมื่อเข้าใจธรรมชาติของการอยู่ในวงการเลี้ยงหมูแล้วผู้เขียนขอเสนอแนะแนวทางความคิดเพื่อเตรียมรับมือกับ การเลี้ยงหมูของผู้เลี้ยงในอนาคต ไว้ดังนี้

การมีอาชีพหลัก อาชีพรอง หรือมีอีกอาชีพหนึ่งเพื่อลดความเสี่ยงการขาดทุน และเลิกกิจการในที่สุด มีอาชีพหลักหรืออาชีพสำรอง หรืออีกอาชีพหนึ่งไว้ยามที่หมูขาดทุน สามารถนำทุนอีกอาชีพหนึ่งมาใช้เป็นทุนใช้ในการเลี้ยงหมู เพื่อรอจังหวะเวลายามที่หมูมีกำไรจึงนำกำไรมาชดเชยในอีกอาชีพหนึ่ง เมื่อมีประสบการณ์และคิดว่ามั่นคง แล้วจึงค่อยเพิ่มหรือขยายกิจการ

การใช้ประโยชน์จากขี้หมู หรือสร้างอาชีพต่อจากขี้หมู เช่น ใช้ขี้หมูเลี้ยงปลาเพิ่มรายได้อีกทาง สามารถสร้างผลตอบแทนได้อีกทางหนึ่งทีเดียว เช่น เลี้ยงหมู 10 ตัว มีบ่อขนาด 1- 2 ไร่ สามารถปล่อยปลาดุกได้ 10,000 ตัว ปลาสวาย 200 ตัว หรือเพิ่มปลานิล 10,000 ตัว เลี้ยงประมาณครึ่งถึงสองปี ให้ผลผลิตได้ถึง 2,000 กิโลกรัม ถ้าขายเป็นเงิน กก. ละ 20 บาท ได้เงินเพิ่ม 40,000 บาท ผู้เลี้ยงบางรายยังเอาน้ำและขี้เลนจากบ่อปลามาใส่นาข้าวก็สามารถต่อยอดได้อีก หรือนำเอาน้ำล้างคอกหมู ขี้หมู ไปเป็นปุ๋ยปลูกทั้งพืช ไร่ นาข้าว สนผลไม้ ผู้เลี้ยงรายย่อยอาจเลี้ยงหมูเพื่อมุ่งหวังเอาขี้หมู น้ำล้างคอกหมูไปใช้ประโยชน์ สามารถลดการใช้ปุ๋ยเคมีได้ระดับหนึ่ง ถ้าใช้นานหลายปี ช่วยให้ผลผลิตเพิ่มได้อย่างดีอีกด้วย เรื่องนี้มีผู้เลี้ยงรายย่อยหลายรายประสพผลสำเร็จมาแล้ว มีตัวอย่างหนึ่ง เลี้ยงหมูแบบหลังบ้าน ชุดละ 10-20 ตัว นำขี้หมูตากแห้งไปหว่านในนาข้าว นำน้ำล้างคอกไปผสมกับน้ำดีใส่ในนาข้าวก็ให้ผลผลิตดีโดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมีมาก ปัจจุบันแทบไม่ใช้ปุ๋ยเคมีเลย และเป็นนาข้าวอินทรีย์โดยปริยาย นอกจากข้าวแล้วยังมีตัวอย่างในพืชอีกหลายชนิด กลายเป็นว่า “ขี้หมูเป็นเงินเป็นทองเลยทีเดียว” 

การหาข้อมูลเรื่องสถานการณ์การเลี้ยงหมู ภาวะโรค ภาวะราคา และแนวโน้มเรื่องราคา ความรู้เรื่องการเลี้ยงหมู มีการพัฒนาหรือเหตุการณ์ใหม่ๆตลอด ผู้เลี้ยงรายย่อยอาจรวมตัวกันพูดคุย 
สร้างกลุ่มปรึกษาหาความรู้ หรือการมีที่ปรึกษาที่มีประสบการณ์ไว้เป็นที่พึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าหากไม่รู้เรื่องเลยก็เสียเปรียบคนอื่น บางครั้งก็เสียโอกาสในหลายเรื่อง

วันนี้การเลี้ยงหมูมีกำไรจูงใจให้หันมาในวงการนี้มากขึ้นโดยเฉพาะรายย่อย การบ่มเพาะประสบการณ์ ต้องใช้เวลาและต้องเข้าใจธรรมชาติการเลี้ยงหมูที่กล่าวข้างต้นให้มาก เริ่มต้นอาจไม่ยาก แต่สำคัญทีสุด คือ รักษาอาชีพนี้ได้ยั่งยืนแค่ไหน นานไปถึงลูกถึงหลานหรือไม่ คงอีกไม่นานบทพิสูจน์นี้คงจะเกิดขึ้นอีกแน่นอน ขอเป็นกำลังใจให้คนเลี้ยงหมูทุกคน... 

คัดลอกข้อความจาก นิตยสาร สัตว์เศรษฐกิจ ฉบับที่622 ปักษ์แรกธันวาคม 2552 หน้าที่21-25 
บทความโดย คุณศักดา สนทิม ศิริสมานฟาร์ม จ.สุโขทัย

สงวนลิขสิทธิ์โดย © หมูยโสดอทเน็ต***เครือข่ายหมูชุมชน เพื่อความยั่งยืน*** All Right Reserved.







Close-คลิ๊กที่นี่เพื่อปิดหน้านี้ครับ