หมูมีกำเนิดเดิมมาจากหมูป่าในแถบยุโรป อเมริกา แอฟริกา และเอเชีย ชาวจีน และชาวไทยนิยมเลี้ยงหมูกันมาก ผู้เลี้ยงหมูในสมัยก่อนมีวิธีเลี้ยงแบบง่ายๆ นอกจากเศษอาหารในครัวเรือน รำข้าว และหยวกกล้วยสับละเอียด ยังนำเอาผักหญ้าต่างๆ ที่หาได้ในท้องถิ่น มาสับให้ละเอียด ผสมกับรำข้าว กากถั่วเหลือง หรือกากถั่วลิสงและน้ำ ให้หมูกิน หมูที่ชาวบ้านเลี้ยงในสมัยดั้งเดิม เป็นหมูพันธุ์พื้นเมือง ตัวเล็ก เติบโตช้า ใช้เวลานานในการขุนให้อ้วน ให้ซากที่มีเนื้อน้อย มันมาก หมูพันธุ์พื้นเมืองที่เลี้ยงกันทั่วไป ได้แก่ หมูพันธุ์ควาย หมูพันธุ์ราด หมูพันธุ์พวง และหมูพันธุ์ไหหลำ ที่มีถิ่นเดิมมาจากประเทศจีน |
การเลี้ยงหมูแบบดั้งเดิม :๑. ใช้รำข้าว |
ในปัจจุบัน การเลี้ยงหมูได้พัฒนาขึ้นมาก ทั้งการเลี้ยงดู การให้อาหาร และการปรับปรุงพันธุ์ มีการสร้างโรงเรือนเลี้ยงหมู บ้านเมืองเรามีอากาศร้อน โรงเรือนสำหรับหมูควรโปร่ง มีหลังคาสูง เพื่อให้อากาศระบายได้ดีตลอดเวลา ภายในโรงเรือนอาจแบ่งเป็นคอก มีห้องเก็บอาหาร และเครื่องมือเครื่องใช้ต่างๆ อาหารสำหรับหมูได้รับการปรับปรุงให้มีคุณภาพสูง เป็นอาหารผสมที่มีประโยชน์ มีสารอาหารครบ ๕ หมู่ ได้แก่ น้ำ คาร์โบไฮเดรต โปรตีน ไขมัน วิตามิน และแร่ธาตุ พันธุ์ของหมูเปลี่ยนไปตามความต้องการของผู้เลี้ยง และผู้บริโภค ลักษณะของอาหารที่หมูกิน และตามความประสงค์ของผู้ผสมพันธุ์ การนำหมูพันธุ์ดีหลายพันธุ์จากต่างประเทศมาผสมพันธุ์ ทำให้เกิดหมูพันธุ์ใหม่ๆ ขึ้น หมูพันธุ์ต่างประเทศที่นิยมเลี้ยงกันมาก และได้ผลดีมีหลายพันธุ์ เช่น พันธุ์แลนด์เรซ พันธุ์ลาร์จไวต์ พันธุ์ดูร็อก และพันธุ์ลูกผสมต่างๆ หมูพันธุ์ต่างประเทศได้รับความนิยมมากกว่าหมูพันธุ์พื้นเมือง เพราะเติบโตเร็ว มีคุณภาพของซากดี (คุณภาพของซากที่ดีคือ ต้องมีเนื้อแดงมาก มันน้อย ทำให้ขายได้ราคาสูง) สามารถเปลี่ยนอาหารที่กินเข้าไปให้เป็นเนื้อได้มาก จึงขุนให้อ้วนได้ง่าย หมูอายุ ๕-๖ เดือน เมื่อได้อาหารเต็มที่ จะมีน้ำหนักราว ๙๐-๑๐๐ กิโลกรัม ก็ขายส่งตลาดได้ คุณภาพซากมีเนื้อแดงมาก ไขมันบาง หมูหนุ่มหมูสาวที่สมบูรณ์ก็อาจคัดไว้สำหรับผสมพันธุ์ เพื่อเอาลูกเลี้ยงต่อไป |
การเลี้ยงหมูแบบดั้งเดิม :๒. ใช้ผักตบชวา |
พ่อหมู และแม่หมู ที่นำมาใช้ทำพันธุ์ ควรมีลักษณะดี ไม่เคยเป็นโรคติดต่อร้ายแรงมาก่อน ห้ามนำหมูป่วย หรือหมูที่เพิ่งได้รับการฉีดวัคซีนมาผสมพันธุ์ โดยปกติพ่อหมูที่ใช้ผสมพันธุ์ควรมีอายุประมาณ ๘ เดือน หนักประมาณ ๘๐-๙๐ กิโลกรัม สำหรับพ่อหมูพันธุ์ต่างประเทศ ควรหนักประมาณ ๑๑๕ กิโลกรัม แม่หมูอายุประมาณ ๗-๘ เดือน ต้องมีโครงสร้างร่างกายแข็งแรง มีเต้านมที่สมบูรณ์อย่างน้อย ๑๒ เต้า แม่หมูอาจให้ลูกได้ถึง ๕ ครอก ในระยะเวลา ๒ ปี และแต่ละครอกประมาณ ๘-๑๒ ตัว ในชีวิตของแม่หมูตัวหนึ่งสามารถ มีลูกได้ ๘-๑๐ ครอก และให้ลูกได้ถึง ๗๐-๘๐ ตัว ลูกหมูจะอยู่ในท้องแม่ประมาณ ๑๑๔ วัน (๓ เดือน ๓ สัปดาห์ ๓ วัน) จะเร็วหรือช้ากว่านี้ประมาณไม่เกิน ๓ วัน ลูกที่เกิดจากพ่อแม่ที่สมบูรณ์ จะมีโอกาสรอดชีวิตได้มาก การผสมพันธุ์ควรทำในตอนเช้าหรือเย็น ขณะที่ อากาศไม่ร้อนอบอ้าว แม่หมูในระหว่างผสมพันธุ์ อุ้มท้อง และคลอดลูก ต้องได้รับการดูแลอย่างถูกวิธีได้อาหารอย่างเพียงพอ ควรแยกคอกให้อยู่ คอกที่จะออกลูกต้องสะอาด อาจปูด้วยฟางข้าวหรือหญ้า เพื่อพื้นคอก จะได้ไม่แข็งกระด้าง ทั้งยังช่วยให้ความอบอุ่นแก่ลูกหมู ที่เกิดใหม่ด้วย |
การเลี้ยงหมูแบบดั้งเดิม :๓. ผสมอาหารให้หมูกิน | ลูกหมูหลังคลอดควรได้กินนมแม่ ระยะเวลาที่สมควรหย่านม คือ เมื่อลูกหมูมี อายุราว ๔ สัปดาห์ หรือเมื่อมีน้ำหนักมากกว่า ๕ กิโลกรัมขึ้นไป การให้ลูกหมูหย่านม เมื่อถึงเวลาสมควร เป็นการช่วยไม่ให้แม่หมูมีร่างกายทรุดโทรมมาก สามารถผสมพันธุ์ใหม่ได้ เมื่อลูกหมูโตควรได้รับการฉีดวัคซีนตามกำหนดเป็นระยะไป เพื่อป้องกันโรคต่างๆ ที่เกิดกับหมูดังนี้
๖-๗ สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคอหิวาต์หมู ๘-๙ สัปดาห์ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อย |
การเลี้ยงหมูแบบดั้งเดิม :๔. ผู้เลี้ยงให้อาหาร |
สำหรับหมูที่ใช้เป็นพ่อและแม่พันธุ์ ซึ่งเป็นหมูที่มีชีวิตอยู่หลายปี จะฉีดวัคซีน ป้องกันโรคอหิวาต์หมูปีละครั้ง และฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากและเท้าเปื่อยปีละ ๒ ครั้ง (๖ เดือนฉีด ๑ ครั้ง) |
การเลี้ยงหมูแบบดั้งเดิม :๕. หมูกินอาหาร |
ผู้ทำฟาร์มเลี้ยงหมู เมื่อมีลูกหมูจำนวนมาก สามารถคัดหมูตัวผู้ และตัวเมีย ที่มีรูปร่าง และคุณลักษณะดีไว้ส่วนหนึ่ง เพื่อนำมาเป็นพ่อพันธุ์ และแม่พันธุ์ต่อไป ส่วนที่เหลืออาจจะแบ่งขาย เมื่อลูกหมูหย่านม หรือจะขุนไว้ขายเองก็ได้
ในประเทศไทยมีการเลี้ยงหมูอยู่ทั่วทุกภาค มีฟาร์มเลี้ยงหมูขนาดใหญ่ในจังหวัดนครปฐม ราชบุรี และชลบุรี เป็นต้น |